ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
การศึกษาคือแก่นแท้ของการมีชีวิตอยู่ ยิ่งมีการศึกษาน้อย ก็ยิ่งโง่และยิ่งจน
น้องชายสองคนของบุญตาก็เรียนจบแค่ชั้นประถม 7 อันเป็นการศึกษาภาคบังคับหลังยุคของบุญตาที่บังคับแค่ชั้นประถม 4 พ่อกับแม่บอกว่าจะบังคับทั้งสองคนนั้นยังไง ๆ ก็ไม่ยอมเรียนต่อ หน้าแล้งปีหนึ่งก็บอกกับพ่อและแม่ว่ามีเถ้าแก่ในเมืองที่มารับซื้อข้าวซื้อปอในหมู่บ้านมีงานให้ทำ คนพี่ไปทำก่อน แล้วพออีก 2 ปีคนน้องก็จบประถม 7 อีกคนหนึ่งก็ตามไปอยู่ด้วย ดีที่ว่าเป็นลูกชาย พ่อแม่เลยไม่มีอะไรเป็นห่วงกังวล ตราบใดที่ยังส่งเงินมาให้ทุกเดือน รวมถึงส่งข่าวคราวมาบ้าง แต่ในปีที่พ่อมีอุบัติเหตุโดนดินดำบั้งไฟระเบิดใส่จนตาบอดข้างหนึ่ง ทั้งสองคนก็ได้รับแจ้งข่าว แต่ก็ไม่ได้มาเยี่ยมดูพ่อ แม้กระทั่งพ่อกับแม่ต้องย้ายออกจากหมู่บ้าน ไปอยู่แถวเขื่อนลำพระเพลิง ทั้งสองคนนั้นก็แค่รับรู้ แต่ก็ไม่ได้สนใจที่จะกลับมามีอาชีพเกษตรกรนี้อีกต่อไป
ปีที่พ่อแม่ย้ายไปทำไร่ที่เหนือเขื่อนลำพระเพลิง บุญตาอายุได้เบญจเพสพอดี บุญตาไปบอกคุณผู้หญิงว่าจะลาไปช่วยพ่อแม่ทำไร่ คุณผู้หญิงก็อิดออดอยู่เป็นนานหลายวัน เพราะบุญตาทำงานบ้านได้ดี เพื่อนของแม่ที่รับบุญตามาอยู่ก็ไม่อยากให้ไป เพราะช่วยทำงานให้เบาแรงได้มาก พอดีแกได้หลานคนหนึ่งเพิ่งจบประถม 7 ออกจากโรงเรียนมาพอดี จึงเอามาช่วยงานที่บ้านคุณผู้หญิง และบุญตาก็ลาออกจากบ้านนั้นมาได้ บุญตานั่งรถเมล์ไปต่อรถ “แอร์โคราช” ที่หมอชิต พอลงรถที่ตัวอำเภอสูงเนินก็มีคนมารับ เขาเป็นหนุ่มผอมเกร็งตัวเล็กแต่งตัวสะอาดสะอ้าน แนะนำตัวเองว่าชื่อขจรศักดิ์ หรือเรียกสั้นว่า “จอน” พ่อและแม่ของเขาก็มาทำไร่อยู่ที่เดียวกันกับพ่อและแม่ของบุญตา พ่อและแม่ของบุญตาวานให้มารับและซื้อข้าวของที่จำเป็นบางอย่าง น้ำเสียงเขาสุภาพมาก ความเขาเป็นคนตัวเล็กจึงดูไม่ออกว่าเขามีอายุมากแล้ว มากกว่าบุญตาถึง 1 รอบครึ่ง เคยแต่งงานมาแล้ว แต่ภรรยาตายไปเสียแต่ยังไม่ทันได้มีลูกด้วยกัน
ที่ทำกินบริเวณเหนือเขื่อนลำพระเพลิงต้องถือว่าเกิดขึ้นจากนโยบาย “เปิดป่า” ของรัฐ เริ่มต้นตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกเหนือจากทางรถไฟที่ผ่ากลางดงพญาเย็น เปิดดินแดนภาคอีสานมาหลายสิบปีตั้งแค่สมัยรัชกาลที่ 5 นั้นแล้ว รัฐบาลอเมริกันก็ถือเป็นข้ออ้างที่จะเข้ามาพัฒนาภาคอีสานของไทย ในฐานะที่เป็นจุดล่อแหลมจากภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ การพัฒนาต่าง ๆ จึงระดมเข้ามา รวมถึงเขื่อนต่าง ๆ และถนนมิตรภาพ ผู้คนจากทั่วสารทิศก็เริ่มหลั่งไหลมาตามเส้นทางการพัฒนาเหล่านั้น การจับจองที่ดินทำได้ง่าย รวมถึงที่มีนายทุนฉวยโอกาสนี้ให้พวกรับจ้างล้มล้างถางพงบุกไปจับจองพื้นที่นับเป็นพัน ๆ ไร่ กระทั่งรัฐบาลไทยต้องไล่ตามแก้ไขปัญหา จัดทำเป็นนิคมการเกษตรและนิคมสร้างตนเอง แต่ก็ป้องกันอะไรได้ไม่มาก ป่ากว่าครึ่งในแถบรอบ ๆ อำเภอปากช่องไปจนถึงอำเภอสีคิ้วและสูงเนิน จึงเต็มไปด้วย “เจ้าของเถื่อน” เป็นจำนวนมาก อีกหลายสิบปีต่อมาจึงได้มีการทำกฎหมายปฏิรูปที่ดิน และจัดสรรในรูปแบบของที่ดิน ส.ป.ก. หรือ ส.ป.ก. 4 - 01 แต่กระนั้นที่ดินก็ไปอยู่ในการครอบครองของนายทุนจนเกือบหมดแล้ว
พ่อแม่ของบุญตาได้รับแบ่งที่ดินเป็นจำนวน 25 ไร่ ผู้คนหลายสิบครอบครัวในหมู่บ้านเหนือเขื่อนลำพระเพลิงนี้มาจากหลาย ๆ จังหวัด ส่วนใหญ่ก็อยู่ในภาคอีสาน หลายครอบครัวก็รู้จักกันมาก่อน คือชวน ๆ กันมา พอทางอำเภอขอให้เลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน บ้านที่มีคนอพยพมาด้วยกันมากกว่าก็ได้ตำแหน่งนี้ไป ซึ่งก็คือพ่อของจอน สำหรับจอนตั้งแต่วันที่ไปรับบุญตาเข้ามาที่ไร่ก็ยังเทียวไปเทียวมาที่บ้านบุญตาบ่อย ๆ ไม่นานก็ให้พ่อที่เป็นผู้ใหญ่บ้านนั้นมาสู่ขอ ซึ่งก็ไม่มีปัญหาเพราะพ่อแม่ของบุญตาก็ตอบตกลงโดยไม่ลังเล ตอนแรกจอนก็เข้ามาอยู่ในบ้านของบุญตา แต่ต่อมาไม่นานก็พากันเข้าไปอยู่ในเมืองโคราช โดยจอนได้งานเป็นพนักงานขับรถทัวร์โคราชกรุงเทพฯ เพราะก่อนหน้าที่จะกลับไปช่วยพ่อและแม่ทำไร่ก็เคยเป็นคนขับมือสองมาก่อน พอภรรยาคนก่อนตายเขาจึงกลับไปอยู่ไร่ และพอได้ภรรยาใหม่คือบุญตาก็อยากกลับมาทำงานขับรถอีก
บุญตาใช้ชีวิตทั้งในเมืองโคราชที่ดูแลสามี และในเดือนที่มีการลงพืชไร่พวกมันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย บุญตาก็จะไปช่วยพ่อกับแม่ที่ไร่สูงเนินหลังเขื่อนลำพระเพลิง รวมทั้งในหน้าเก็บเกี่ยวนั้นด้วย บุญตามีลูกกับจอน 2 คน หญิง 1 ชาย 1 และในปีที่ลูกคนโตกำลังจะเข้าโรงเรียนนั่นเอง จอนก็ป่วยหนักและเสียชีวิตในที่สุด บุญตาเคว้งคว้างกับชีวิตอยู่เป็นเดือน ตอนแรกก็คิดว่าจะพาลูกกลับไปอยู่กับพ่อแม่ในไร่ แต่อีกใจก็อยากให้ลูกได้เรียนหนังสือในเมือง ที่สุดจึงตัดสินใจไปสมัครเข้าทำงานที่โรงงานอาหารสัตว์ที่เพิ่งมาเปิดใหม่บนถนนมิตรภาพใกล้อำเภอสูงเนิน ซึ่งก็มีโรงเรียนประจำอำเภออยู่ใกล้ ๆ แล้วบุญตาก็พาลูกไปเช่าบ้านอยู่ใกล้ ๆ กันกับโรงเรียนและโรงงานนั้น โชคดีที่ลูกทั้งสองคนของบุญตาเป็นเด็กที่รักเรียน ทำให้บุญตามีกำลังใจที่จะทำงานมาส่งเสียให้ได้เรียนสูง ๆ อันเป็นเรื่องเป็น “ปมด้อย” ของบุญตามาตั้งแต่เด็กนั้น ซึ่งบุญตาก็มีความสุขมากที่ได้เห็นลูกสอบผ่านไปทีละชั้น จนลูกสาวจบวิทยาลัยพยาบาลที่กรุงเทพฯ และได้ทำงานที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง ส่วนลูกชายก็ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเปิดในย่านหัวหมาก แล้วสามารถสอบเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานท้องถิ่นที่องค์การบริหารส่วนตำบลชานเมืองกรุงเทพฯ ทั้งคู่แต่งงานแล้วและมีลูกครอบครัวละ ๒ คน
ผมรู้จักกับบุญตาก็ตอนที่ลูกสาวของบุญตาจะเข้าเรียนในวิทยาลัยพยาบาล ใกล้ ๆ บ้านที่ผมปลูกอยู่ในซอยแจ้งวัฒนะ 1 มีชาวบ้านที่มาปลูกบ้านอยู่ริมชายคลองเป็นชุมชนหนาแน่นอยู่ก่อนแล้ว หลายคนรู้จักผมเพราะตอนที่มาปลูกบ้านผมได้จ้างคนแถวนั้นให้ช่วยเฝ้าที่ก่อสร้าง และพอสร้างเสร็จก็ฝากให้ดูแลบ้านที่ผมยังไม่ได้ไปอยู่นั้นอยู่นับเดือน พอผมย้ายไปอยู่ก็จ้างบางคนมาตัดหญ้าและตัดแต่งต้นไม้ จึงรู้จักสนิทสนมชาวบ้านแถวนั้นอยู่หลายคน มีคนหนึ่งเป็นเจ้าของห้องแบ่งให้เช่า ได้มากดกริ่งถามผมในวันหนึ่งว่ามีหลานอยากจะเรียนต่อ แต่ต้องมีคนที่เป็นข้าราชการตั้งแต่ระดับซี ๖ ขึ้นไปเซ็นรับรองเข้าเรียน เพราะต้องขอทุนที่เรียกว่า กยศ. นั่นเอง พอผมซักไซ้ไล่เลียงก็ทราบความจริงว่าเป็นลูกสาวของบุญตา ที่มาเช่าห้องอยู่ในชุมชมริมคลองนี้ โดยเจ้าของห้องเช่าก็มีญาติที่ทำไร่อยู่หลังเขื่อนลำพระเพลิงนั้นด้วย
ตอนที่ลูกสาวเรียนจบพยาบาลแล้ว บุญตาได้พาลูกสาวมากราบผมที่บ้าน และเทียวไปเทียวมาเอาของกินของฝากมาให้เสมอ ผมก็ได้แต่บอกว่าช่วยเหลือกันตามมนุษยธรรม แต่บุญตาก็นับถือผมเป็นญาติผู้ใหญ่ ทั้งที่อายุของบุญตาก็มากกว่าผมอยู่ 4-5 ปี บุญตาชวนไปเยี่ยมบ้านไร่ของบุญตาที่หลังเขื่อนลำพระเพลิง และจะยกที่ดินขนาด 2 ไร่พร้อมสระน้ำขนาด 2 งานให้เป็นสิ่งตอบแทน แต่ผมก็ไม่ได้รับไว้เพราะเป็นที่ดิน ส.ป.ก. และก็ไม่มีแผนที่จะไปอาศัยในต่างจังหวัดที่ใด ๆ แต่ก็ได้ช่วยทำบุญให้กับวัดแถวนั้น จึงได้คุยกับบุญตาอยู่บ่อย ๆ ซึ่งบุญตาก็เล่าชีวิตโดยละเอียดให้ฟัง
บุญตายังไปช่วยลูกทั้งสองคนเลี้ยงหลานทั้งสี่อยู่หลายปี และพร่ำสอนให้ทั้งลูกและหลานนั้นรักเรียน แม้ทุกวันนี้บุญตาก็เรียนธรรมะที่วัดและไปนอนวัดทุกวันพระ บุญตาบอกกับทุกคนว่า ชีวิตนี้แม้ได้เรียนทางโลกอย่างที่เคยคิดหวังไว้ ก็ขอให้ได้เรียนทางธรรมจนกว่าจะบรรลุมรรคผลนิพพานนั่นเลย
รูปถ่ายปริญญาบัตรของลูกทั้งสองคนนั้น บุญตาเอาขึ้นหิ้งพระกราบไหว้ก่อนนอนทุกคืน