ศมส.จับมือ EFEO จัดเสวนาวิชาการและนิทรรศการ “สักลาย: ศิลปะแห่งศรัทธาบนเรือนร่าง”

การสักลวดลายลงบนเรือนร่าง เป็นความสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่มีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ปรากฏหลักฐานชัดเจนมาตั้งแต่เมื่อ 5,300 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย หลังจากนั้นก็พบหลักฐานการสักบนร่างกายที่แพร่หลายในทุกภูมิภาคของโลก ทั้งในโลกเก่าและโลกใหม่ รวมถึงตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เช่นเดียวกับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับการสักที่สามารถย้อนไปถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้อย่างชัดเจนนัก แต่ก็มีหลักฐานบางอย่างที่สามารถเชื่อมโยงถึงการสักได้ เช่น ลวดลายบนร่างกายคนที่ปรากฏในศิลปะถ้ำ หรือเข็มที่ทำจากโลหะและกระดูก เป็นต้น ส่วนหลักฐานเอกสารที่กล่าวถึงการสักของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น บันทึกของนักเดินทางชาวจีน ม้าตวนหลิน ในพุทธศตวรรษที่ 18 กล่าวถึงการสักของประชากรที่อยู่รอบจักรวรรดิจีน ซึ่งรวมถึงดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเอกสารในสมัยราชวงศ์ชิงของจีน ที่กล่าวถึงการสักหน้าและสักขาของชนป่าเถื่อนทางทิศใต้ รวมถึงมาร์โค โปโล ชาวอิตาลี ที่เดินทางมายังเอเชียในพุทธศตวรรษที่ 19 ได้บันทึกว่า วิถีปฏิบัติเด่นของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือการหุ้มฟันด้วยทองคำ และการสักที่ส่วนขาและแขนเป็นแถบสีดำ ซึ่งหากเป็นบุรุษแล้ว การสักในลักษณะนี้ เป็นไปเพื่อความสง่างามและแสดงถึงสถานะทางสังคม

การสักอาจเกิดขึ้นและดำรงอยู่ด้วยหลากหลายเหตุผล ตามแต่เป้าประสงค์ของคนแต่ละคน แต่ละครอบครัว แต่ละชุมชน หรือแต่ละสังคม การสักและรอยสักอาจมีบทบาทหน้าที่ทั้งด้านความเชื่อ ประเพณีพิธีกรรม เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ หรือมีหน้าที่ในเชิงศิลปะสุนทรียภาพ บ่งบอกอารมณ์ความรู้สึก จิตวิญญาณ เป็นอนุสรณ์หรือเพื่อบันทึกเรื่องราวในชีวิต เป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นเจ้าของ เพื่อระบุหรือแสดงตัวตนของตนต่อตนเองหรือต่อสังคม หรือเพื่อบ่งบอกสถานะของตนเอง เป็นเครื่องสำอาง หรือเพื่อสุขภาพและการรักษาโรค

ดังนั้น การสักและรอยสักจึงนับเป็นหนึ่งในร่องรอยหลักฐานที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ สภาพสังคม มรดกทางภูมิปัญญาที่ส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น รวมถึงเป็นสิ่งสะท้อนความเป็นตัวตนและความงามทางศิลปะ ทั้งในระดับสังคมและระดับปัจเจก ในแต่ละพื้นที่ แต่ละช่วงเวลา และโดยเฉพาะเมื่อเวลาได้เคลื่อนผ่านมาสู่ยุคปัจจุบัน ความนิยมการสักด้วยเหตุผลของศิลปะความงามบนเรือนร่างได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ดี ยังมีคนบางกลุ่มที่มีทัศนคติเชิงลบกับการสักและผู้ที่มีรอยสักแบบเหมารวม ว่าเป็นบุคคลที่เคยกระทำความผิด เป็นบุคคลอันตราย ไม่ควรเข้าใกล้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการให้คุณค่ามนุษย์แค่เพียงรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพาทิศ (École française d'Extrême-Orient (EFEO)) เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและคลังข้อมูลชุมชน จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสักและวัฒนธรรมการสักที่ปรากฏอยู่ในสังคมในพื้นที่ดินแดนประเทศไทยและกัมพูชาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งบ่งชี้ถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความหลากหลายของบุคคลในระดับปัจเจก รวมถึงจะสร้างบทสนทนาโต้ตอบกับผู้เข้าร่วมงาน ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการและการเสวนาวิชาการในพื้นที่เรียนรู้ของ ศมส.

การจัดแสดงนิทรรศการจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 7 กันยายน – 30 ธันวาคม 2565 โดยนิทรรศการแบ่งออกเป็น 2 ชุด คือ (1) ชุดนิทรรศการภาพสักยันต์เนื่องในพิธีกรรมทางพุทธศาสนาของพระและเกจิอาจารย์จากประเทศกัมพูชาและประเทศไทยที่บันทึกไว้โดย โอลิวิเย่ร์ เดอ แบร์นง (Olivier de Bernon) และฟรองซัวส์ ลาจิราร์ด (François Lagirard) นักวิชาการของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพาทิศ (École française d'Extrême-Orient (EFEO)) และ (2) ชุดนิทรรศการภาพถ่ายของกลุ่ม “คนป่าบ้าขาลาย” กลุ่มคนที่ศึกษา สืบค้น อนุรักษ์ สืบทอด และเผยแพร่วัฒนธรรมการสักขาลายโบราณล้านนา ผู้ถ่ายบันทึกประเพณีการสักขาลาย หรือการสักลายในบริเวณต้นขาและลำตัวช่วงล่างเพื่อการปกป้องคุ้มครองภัย โดยประเพณีดังกล่าวยังเป็นที่ปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้ โดยอาจารย์สักตามหมู่บ้านชนบทชายแดนทางเหนือของประเทศไทยบางแห่ง ลายสักกลุ่มนี้มีแม่ลายมาจากฐานความเชื่อและสุนทรียศาสตร์ของท้องถิ่น ไม่ได้มีที่มาจากแบบแผนหรือแนวคิดทางพระพุทธศาสนารวมอยู่ด้วย

ในขณะที่การเสวนาวิชาการ ที่จะจัดขึ้นวันที่ 7 กันยายน 2565 จะเป็นการบรรยายและพูดคุยเชิงวิชาการประกอบนิทรรศการ โดยนักวิชาการชาวไทยและชาวต่างชาติ พร้อมทั้งนำเสนอข้อมูลความรู้ที่ขยายความเพิ่มขึ้นจากนิทรรศการ ชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องและพัฒนาการของการสักกับบริบททางประวัติศาสตร์และบริบททางสังคมวัฒนธรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ภายในวันดังกล่าว ยังมีการสาธิตการสักขาลายของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เห็นข้อมูลเชิงประจักษ์ ได้เห็นถึงกระบวนการและขั้นตอนการสัก ได้พูดคุยกับอาจารย์สักลาย และยังเป็นการเพิ่มประสบการณ์ด้านผัสสะกับผู้เข้าชม

ผู้สนใจร่วมงานเสวนาวิชาการและนิทรรศการ “สักลาย: ศิลปะแห่งศรัทธาบนเรือนร่าง” ในวันพุธที่ 7 กันยายน 2565 เวลา 13.00 – 17.00 น. ณ หอประชุม ชั้น 4 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ และถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Fanpage / Youtube: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC, Sac TV: www.sac.or.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ กนกเรขา นิลนนท์ โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3834 ลงทะเบียนล่วงหน้าไม่เสียค่าใช้จ่าย รับจำนวนจำกัด 150 คน ได้ที่ https://www.sac.or.th/portal/th/activity/detail/432 และรับชมย้อนหลังได้ช่องทางศมส.