วันที่ 1 ก.ย.65 รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว นิธิพัฒน์ เจียรกุล ระบุว่า...
สถิติโควิดวันนี้ ร้อยละการตรวจพบเชื้อในรอบเจ็ดวันที่ผ่านมาลดลงต่อเนื่องเหลือ 5.79% ถึงน้อยกว่า 5% เมื่อไรจะได้อุ่นใจเดินหน้าประเทศกันเต็มสูบ
ความมั่นคงทางยาและเครื่องมือแพทย์ เป็นหลักประกันหนึ่งของประเทศในยุคเปลี่ยนผ่านสำหรับโควิด ลองมาสำรวจดูว่าอาวุธที่เรามีใช้งานอยู่ ทั้งผลิตได้เองในประเทศและที่ต้องนำเข้า ยังมีประสิทธิผลดีเพียงพอหรือไม่ ในการรับมือกับโอไมครอน BA.5 ซึ่งยังเป็นขาใหญ่ครองตลาดอยู่ในขณะนี้
เริ่มจากการป้องกันก่อนติดเชื้อ สำหรับคนที่แนวโน้มภูมิคุ้มกันจะขึ้นไม่ดีหลังฉีดวัคซีน บ้านเราได้จัดเตรียมแอนติบอดี้ออกฤทธิ์นาน ยี่ห้อ Evusheld ไว้ในปริมาณเพียงพอระดับหนึ่ง แม้จะมีข่าวว่ารัฐบาลอังกฤษชะลอการจัดซื้อยานี้ออกไป แต่ประเทศอื่นส่วนใหญ่ยังไว้ใจในอาวุธสำคัญชิ้นนี้ และมีการสั่งซื้อเตรียมพร้อมไว้ใช้งานได้เพียงพอในประเทศ
ในบทความตามลิงค์ https://www.journalofinfection.com/action/showPdf... กล่าวถึงผลการใช้ยานี้ในโลกแห่งความเป็นจริงจากหลายภูมิภาค โดยคณะผู้นิพนธ์ได้ทำการทบทวนวรรณกรรมจาก 5 การศึกษา ส่วนใหญ่ทำในช่วงที่มีการระบาดของโอไมครอนแล้ว ครอบคลุมประชากรราวเกือบหนึ่งหมื่นห้าพันคน เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับและไม่ได้รับยานี้ซึ่งมีอย่างละครึ่งใกล้เคียงกัน พบว่า Evusheld สามารถช่วยลดอัตราตายลงได้ราวครึ่งหนึ่ง แต่อาจมีข้อจำกัดบ้างที่ประชากรที่ทำการศึกษาได้รับวัคซีนโควิดมาแตกต่างกัน และขนาดยาที่ใช้ในแต่ละการศึกษายังมีความแตกต่างกันไปบ้าง สำหรับในบ้านเราเองกำลังติดตามผลการใช้รักษาจริงหน้างาน และถ้าเป็นได้ผมกำลังชักชวนนักวิจัยในประเทศที่สนใจด้านเภสัชวิทยา เพื่อทำการศึกษาถึงขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับคนไทย
ถัดมาเป็นยาที่ใช้เมื่อเราติดเชื้อแล้วไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยเหมือนไข้หวัด ฟ้าทะลายโจรช่วยบรรเทาอาการได้เร็ว และอาจช่วยป้องกันโรคลุกลามได้ ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการสร้างแบบจำลองเพื่อหาขนาดยาที่เหมาะสม พบว่าถ้าจะให้ได้ผลดี วันแรกควรกินยาฟ้าทะลายโจร ในขนาดที่เพิ่มเป็นสองเท่าจากขนาดซึ่งแนะนำกันอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ได้ปริมาณสารออกฤทธิ์คือ andrographolide (APE) เป็น 360 มิลลิกรัมในวันแรก คือ จากเดิมที่ให้กินวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 3 เม็ดถ้าเป็นยาที่มี APE เม็ดละ 20 มิลลิกรัม หรือ ครั้งละ 5 เม็ดถ้าเป็นชนิดมี 12 มิลลิกรัม ก็ต้องเพิ่มเป็นครั้งละ 6 หรือ 10 เม็ดแล้วแต่ปริมาณ APE ส่วนอีกสี่วันที่เหลือจึงค่อยกินยาต่อในขนาดซึ่งแนะนำในปัจจุบัน แต่ต้องเน้นกันไว้ก่อนว่า ขนาดยาที่สูงขึ้นสองเท่าในวันแรกนี้ ยังไม่มีการศึกษาในการใช้งานจริงว่ามีความปลอดภัย โดยเฉพาะในคนที่มีโรคตับอยู่ก่อน หรือกินยาอื่นที่มีผลต่อตับร่วมด้วย https://www.worldscientific.com/doi/10.1142/S0192415X22500732?url_ver=Z3...
อีกหัวข้อที่เป็นที่ถกเถียงในแวดวงวิชาการกันมาก คือยาฟาวิพิราเวียร์ จากประสบการณ์ของแพทย์ไทยดูจะได้ประโยชน์ดีในยุคแรกๆ จนมาถึงช่วงกึ่งกลางของระลอกเดลต้า ที่ชักพบว่าถึงแม้ให้ยานี้เร็วก็รับมือกับโรคไม่ค่อยอยู่ คณะนักวิจัยจากหลายสถาบันในบ้านเราเอง ได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยจำนวน 93 คน ที่ติดเชื้อมาไม่เกิน 10 วันและยังไม่มีปอดอักเสบ โดย 62 คนได้รับยาอีก 31 คนไม่ได้รับ พบว่าค่ามัธยฐานของการมีอาการของโรคโดยรวมดีขึ้นต่างกันชัดเจน คือ 2 วันในกลุ่มได้รับยาและ 14 วันในกลุ่มได้รับยา โดยกลุ่มที่ได้รับยาเกิดปอดอักเสบภายหลังน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหนึ่งเท่าตัว แต่ปอดอักเสบทั้งสองกลุ่มก็ไม่รุนแรงและหายได้ดี https://www.tandfonline.com/.../22221751.2022.2117092...
ข้อสังเกตคือการศึกษานี้ทำในช่วงก่อนเดลต้าระบาดเป็นส่วนใหญ่ โดยประชากรทั้งหมดไม่ได้รับวัคซีนโควิดมาเลย สำหรับเครื่องมือที่ใช้วัดอาการของโรคโดยรวมคือ NEWS นั้น นิยมใช้ในการจำแนกผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรงว่าควรให้การรักษาเร่งด่วนหรือไม่ แต่การนำมาใช้ติดตามผู้ป่วยว่าอาการดีขึ้นยังไม่มีการศึกษาแพร่หลายว่าใช้งานได้ดี (NEWS ประกอบด้วยการให้คะแนนโดยดูจาก 6 องค์ประกอบ คือ อุณหภูมิ ชีพจร อัตราการหายใจ ความดันโลหิต ระดับความอิ่มตัวออกซิเจนปลายนิ้ว และระดับการรู้ตัว) นอกจากนี้เมื่อดูผลการกำจัดไวรัสไปจากร่างกายเร็วหรือช้า พบว่าทั้งสองกลุ่มไม่ต่างกัน
อีกการศึกษาหนึ่งจากมาเลเซียเพื่อนบ้านทางใต้ของเรา ที่คล้ายกันและทำในช่วงเวลาเดียวกัน เพียงแต่มีผู้เข้าร่วมถึง 500 คน โดยมีอาการปานกลางและฉีดวัคซีนไม่ถึง 5% จุดสนใจหลักคือการลุกลามของโรคจนเกิดภาวะพร่องออกซิเจนในเลือด (hypoxemia) จุดสนใจรองคือ อัตราการต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อัตราต้องนอนไอซียู และอัตราการเสียชีวิต พบว่ากลุ่มที่ให้ยาเกิดจุดสนใจทั้งสี่คิดเป็น 18.4%, 2.4%, 5.2%, และ 2.0% ตามลำดับ เทียบกับในกลุ่มที่ไม่ได้ยาฟาวิพิราเวียร์เกิด 14.8%, 2.0%, 4.8%, และ 0% ตามลำดับ ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ข้อสรุปสำหรับผม ในยุคโอไมครอนที่คนไทยฉีดวัคซีนกันได้มากแล้ว ยาฟาวิพิราเวียร์ที่รับใช้เราในการต่อสู้กับโควิดมายาวนาน ได้เวลาเก็บเข้ากรุแห่งความทรงจำแล้ว มียาต้านไวรัสอื่นที่ได้ผลดีกว่าในราคาที่ไม่แตกต่างกัน
#เตรียมพร้อมยุคหลังโควิด