กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่ฝายชั่วคราววังบัว กั้นแม่น้ำปิงบริเวณจังหวัดกำแพงเพชร ได้รับความเสียหายจากน้ำกัดเซาะ เหตุฝนตกชุกและปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

วันที่ 31 ส.ค.65 นายจักรพันธ์ จารุวัฒน์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุหมาอ๊อน และร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณฝนตกชุกต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร รวมทั้งพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำปิงและแม่น้ำวัง โดยเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่สถานีวัดน้ำ W.4A แม่น้ำวัง อ.สามเงา จ.ตาก มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 511.50 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงแม่น้ำปิง ที่สถานี P.7A อ.เมือง จ.กำแพงเพชร มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 477.90 ลบ.ม./วินาที และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จนทำให้ระดับน้ำไหลข้ามฝายชั่วคราววังบัว สูง 1.09 เมตร ประกอบกับสภาพลำน้ำด้านเหนือของฝายชั่วคราววังบัว มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการตกตะกอนทับถมบริเวณด้านเหนือ ส่งผลต่อการไหลของน้ำผ่านสันฝายจนเกิดการกัดเซาะตัว ทำให้ฝายชั่วคราววังบัวบริเวณฝั่งตำบลเทพนคร อ.เมืองกำแพงเพชร ตั้งแต่ กม.0+170 – กม.0+210 เกิดการชำรุดขนาดกว้างประมาณ 40 เมตร เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถรับน้ำเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่วังบัว เพื่อส่งน้ำให้กับเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวต่อเนื่อง พื้นที่ประมาณ 145,351 ไร่ ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัวได้ ในเบื้องต้นได้ประสานไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง ขอสนับสนุนน้ำ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกข้าวดังกล่าว ผ่านคลองชักน้ำสาย 2R-MC ในอัตรา 20 ลบ.ม./วินาที เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตร 

ส่วนแนวทางการซ่อมแซมปรับปรุงฝายชั่วคราววังบัวให้มีความมั่นคงแข็งแรง นั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางในการซ่อมแซมระยะเร่งด่วนและปรับปรุงฝายในระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัวและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง

สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวรวมทั้งสิ้นประมาณ 425,841 ไร่ ปัจจุบันเก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 278,054 ไร่ ยังคงเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอีกประมาณ 147,787 ไร่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมดในกลางเดือนตุลาคม 2565 จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่ได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีและเก็บเกี่ยวแล้ว ขอให้งดการทำนาปีต่อเนื่อง หากจะดำเนินการปลูกข้าวต่อเนื่อง ให้พิจารณาวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในแหล่งน้ำสำรอง ในพื้นที่ของตนเองเป็นหลัก เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้