นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษาว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้หารือกับธนาคารออมสิน ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมีความเห็นร่วมกันว่าต้องมีมาตรการเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนสูง ได้แก่ กลุ่มลูกหนี้ของธนาคารออมสินกลุ่มที่มีคดีพิพาทก่อนฟ้องและหลังศาลมีคำพิพากษาเป็นลำดับแรก ซึ่งมีจำนวน 6,331 ราย และหากรวมผู้ค้ำประกันด้วย จะมีจำนวนมากถึง 20,000 ราย ให้ได้รับความช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ได้เข้ามาไกล่เกลี่ย เจรจา ปรึกษา ปรับโครงสร้างหนี้ หาข้อยุติการบังคับคดีและแก้ไขปัญหาหนี้สินร่วมกัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

“ธนาคารออมสินและ ศธ. จึงกำหนดให้มีการจัดงาน“มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู ปิดเทอม เรื่องหนี้ มีทางออก” โดยในเดือนกันยายน 2565 จะจัดงานจำนวน 1- 3 จังหวัด ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งเป็นสถานีแก้หนี้ และจัดงานพร้อมกันทุกจังหวัดในเดือนตุลาคม 2565 โดย ศธ.จะจัดส่งรายชื่อลูกหนี้ของธนาคารออมสินกลุ่มที่มีคดีพิพาทก่อนฟ้องและหลังศาลมีคำพิพากษาที่อยู่ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ให้กับสถานีแก้หนี้เพื่อเชิญลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวและผู้ค้ำประกันเข้าร่วมงาน เพื่อไกล่เกลี่ยหนี้ ตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดW

รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าร่วมงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู ปิดเทอม เรื่องหนี้ มีทางออก จะได้รับสิทธิประโยชน์เบื้องต้น ได้แก่ การขยายเวลาการชำระหนี้ ลดเบี้ยปรับ ลดดอกเบี้ยและลดค่างวดรายเดือน ไม่ถูกฟ้อง/ไม่ถูกบังคับคดี งดยึดทรัพย์สิน/งดขายทอดตลาด และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น การถอนจากการเป็นผู้ค้ำประกันโดยการยอมรับชำระหนี้เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้อง การปิดสัญญาชำระหนี้ เป็นต้น โดยมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู ปิดเทอม เรื่องหนี้ มีทางออกในครั้งนี้ จะช่วยให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารออมสิน สามารถพูดคุยตกลงแก้ไขปัญหาหนี้กับธนาคารออมสินได้ โดยไม่ต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ไม่เสียเวลา และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในการสู้คดี ขณะเดียวกันธนาคารออมสินยังคงได้รับประโยชน์จากการที่ได้รับชำระหนี้คืน เพราะลูกหนี้ก็ยังคงต้องผ่อนชำระหนี้อย่างต่อเนื่องเช่นเดิม