จัดสรรงบปี66 รวมกว่า 403 ล้าน “กลุ่มชุมชนร่วมผู้ว่าชัชชาติทำงาน” เสนอ 3 ข้อ สร้างธรรมาภิบาล-แผนพัฒนารายปี-ตั้งสภาประชาคมแทน ส.ข.
วันที่ 30 ส.ค.65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมหารือกับ “กลุ่มชุมชนร่วมผู้ว่าชัชชาติทำงาน” เครือข่ายชุมชนในกรุงเทพฯ นำโดย นายสมพงษ์ พัดปุย เลขาธิการเครือข่ายพลเมืองเพื่อธรรมาภิบาล และเครือข่ายผู้ประสานงานชุมชนจาก 20 เขต นำเสนอกลไกพัฒนานโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อชุมชนเข้มแข็งและพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายเฉลิมพล โชตินุชิต และนางสุธาทิพย์ สนเอี่ยม รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ที่ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า)
นายศานนท์ กล่าวว่า “กลุ่มชุมชนร่วมผู้ว่าชัชชาติทำงาน” มาเสนอ 3 ประเด็นร่วมทำนโยบายของผู้ว่าฯกทม. คือ เรื่องธรรมาภิบาล ชุมชนจะเข้ามาช่วย เรื่องงบประมาณซึ่งจากที่ชุมชนได้เสนอมาตรงกับนโยบายที่เราจัดสรรงบประมาณปี 2566 ให้ชุมชนละ 200,000 บาท ซึ่งสภากรุงเทพมหานครอนุมัติแล้ว และ เรื่อง ”สภาประชาคม” ซึ่งจะมาแทน ส.ข. ก็ต้องไปทบทวนเพราะชุมชนได้เสนอมาหลายเรื่อง โดยจะตั้งคณะทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ ชุมชนยังมีข้อเสนอระดับพื้นที่ 7 ข้อ อาทิ การรุกล้ำริมคลอง , หาบเร่แผงลอย , การติดตั้งประปาหัวแดง , การซ่อมถนน , การฟื้นฟูป่าชายเลน และ การจัดระเบียบสายไฟ ซึ่งชุมชนเป็นหัวใจสำคัญเพราะอยู่ในพื้นที่จะรู้ปัญหา เราก็นำมาทำได้เลย ได้มอบรองปลัดกรุงเทพมหานครไปดูแล้ว
ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบัน กทม.มีชุมชนที่อยู่ในความรับผิดชอบ จำนวน 2,016 ชุมชน โดยทั้ง 2,016 ชุมชน จะต้องเขียนโครงการให้สอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าฯชัชชาติ ในการแก้ไขปัญหาเส้นเลือดฝอย เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งผู้บริหาร ได้ขอจัดสรรงบปี 2566 เตรียมไว้แล้ว จำนวน 403,200,000 ล้านบาท ส่วนหลักเกณฑ์นั้น กทม.จะประกาศอีกครั้ง
“กลุ่มชุมชนร่วมผู้ว่าชัชชาติทำงาน” เผยว่า ปัจจุบันจำนวนชุมชนในกรุงเทพฯ เพิ่มมากขึ้นเป็นกว่า 2,000 ชุมชน แต่ละชุมชนได้รับเงินอุดหนุนรายเดือน จำนวน 5,000 บาท 7,500 บาท และ 10,000 บาท ตามขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ แต่ชุมชนส่วนใหญ่ยังคงอ่อนแอและมีส่วนร่วมกับกรุงเทพมหานครน้อย ทำให้ขาดพลังในการแก้ปัญหาชุมชน เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายผู้ว่าฯกทม. 218 ข้อ สู่การปฏิบัติได้จริง กลุ่มนี้ซึ่งเป็นเครือข่ายจาก 20 เขต จึงนำเสนอ 3 มาตรการพัฒนานโยบายเชิงโครงสร้างส่งเสริมชุมชน กทม. สู่ความเข้มแข็ง เรื่องที่ 1 การมีส่วนร่วมและส่งเสริมธรรมาภิบาล กทม. (นโยบายข้อที่ 43, 53, 56, 107) ส่งเสริมประชาชนเป็นพลังสำคัญในการสนับสนุนการสร้างธรรมาภิบาล กทม. และภาคประชาชนได้เข้าร่วมตลอดกระบวนการ คิด ตัดสินใจ ปฏิบัติ ตรวจสอบประเมินผล และร่วมรับผลประโยชน์ เรื่องที่ 2 ให้ชุมชนจัดทำแผนพัฒนารายปีโดยเงินอุดหนุนจาก กทม. (นโยบายข้อ 25, 56, 205) เพื่อแก้ปัญหาชาวบ้านอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โดยประชาชนมีส่วนร่วมในฐานะเป็นเจ้าของโครงการและเป็นผู้รับประโยชน์ ใช้โอกาสการทำแผนพัฒนา สำรวจและจัดระบบข้อมูลชุมชนในเรื่องสำคัญ และ เรื่องที่ 3 การจัดตั้งสภาประชาคม (นโยบายข้อ 44 ) ทำหน้าที่เป็นองค์กรประสานงานกลุ่มประชาชนต่างๆ ให้ได้เข้าร่วมกับ กทม. เช่น เสนอปัญหา แนวทางแก้ไข ร่วมในโครงการนโยบาย 218 ข้อของผู้ว่าฯกทม.