สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. รายงานความคืบหน้าผลการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ระหว่างเดือนต.ค.67-ส.ค.65 มีสถานศึกษาที่ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกระยะที่ 1 การประเมิน SAR จำนวนทั้งสิ้นกว่า 19,500 แห่ง พร้อมเผย 5 ข้อค้นพบที่ทำให้สถานศึกษาประสบความสำเร็จ

ดร. นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. กล่าวว่า สมศ. ได้ดำเนินการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาปี 2565 ไปแล้วกว่า 19,500 แห่ง และจากการประเมินคุณภาพภายนอกระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการตรวจเยี่ยมผ่านทางระบบวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามความสมัครใจของสถานศึกษา ที่ได้รับรองผลการประเมินแล้วในระดับการศึกษาปฐมวัย และการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 735 แห่ง แบ่งเป็นศูนย์พัฒนาเด็ก จำนวน 319 แห่ง พบว่าร้อยละ 42 มีผลการประเมินดีมากทั้งสามมาตรฐาน และร้อยละ 3 มีผลการประเมินระดับดีเยี่ยมทั้งสามมาตรฐาน ในส่วนของระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 416 แห่ง พบว่าร้อยละ 47 มีผลการประเมินดีมากทั้งสามมาตรฐาน และร้อยละ 42 มีผลการประเมินดีเยี่ยมทั้งสามมาตรฐาน ซึ่งจากผลการประเมินคุณภาพภายนอกดังกล่าวทำให้เห็นว่าสถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างให้ความสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยมากขึ้น โดยพบว่ามี 5 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานศึกษาประสบความสำเร็จประกอบด้วย

1.สถานศึกษามีการระบุเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนแล้วนำไปสู่การปฏิบัติ ด้วยการจัดกิจกรรม โครงการในการพัฒนาผู้เรียนที่ครอบคลุมทั้งในเรื่องของความรู้ คุณธรรม จริยธรรม และการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขที่ชัดเจนและต่อเนื่อง เช่น กิจกรรมการสอนเสริมหลังเลิกเรียน สำหรับผู้เรียนที่มีปัญหาในเรื่องการอ่าน ควบคู่ไปกับการจัดการเรียนการสอนที่มีความหลากหลาย

2.สถานศึกษามีการระบุเป้าหมายเกี่ยวกับกระบวนการบริหารจัดการ ครอบคลุมถึงการพัฒนาครู มีการสำรวจสถานศึกษาของตนเกี่ยวกับจุดเน้นในการบริหารในรูปแบบและลักษณะต่างๆ มีการระบุเป้าหมาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ ตลอดจนวิธีพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการสถานศึกษา เปิดโอกาสให้ผู้ปกครอง ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของสถานศึกษามากขึ้น

3.สถานศึกษามีการนำเสนอให้เห็นกระบวนการบริหารตามจุดเน้นและเป้าหมายที่กำหนดไว้ มีการวางแผนการดำเนินงานในแต่ละปีการศึกษา กำหนดเป็นโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ เพื่อทำให้การบริหารจัดการส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนและสถานศึกษา เช่น โครงการส่งเสริมความเป็นอัจฉริยภาพทางศิลปะ ดนตรี กีฬา โครงการพัฒนาบุคลากรในการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning เป็นต้น

4.สถานศึกษามีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เช่น การกำหนดสัดส่วนของครูผู้สอนต่อผู้เรียน ตลอดจนการระบุโครงการและกิจกรรมในการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็น รวมถึงได้ลงมือปฏิบัติจริงมากขึ้นโดยมีครูเป็นผู้แนะแนวทาง และมีการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนประเมินผลการจัดกิจกรรมตามโครงการต่างๆ

5.สถานศึกษามีการกำหนดจุดเน้นในแต่ละมาตรฐานอย่างชัดเจน พร้อมนำเสนอข้อมูลหลักฐานเอกสารอ้างอิงเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานที่มีความน่าเชื่อถือ พร้อมกับผลงานนวัตกรรมหรือแบบอย่างที่ดี (Best Practice) โดยแสดงให้เห็นถึงกระบวนการ ขั้นตอนในการพัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ สมศ. ยังคงยึดหลักการประเมินคุณภาพภายนอกโดยไม่สร้างภาระให้แก่สถานศึกษาและครูผู้สอน พร้อมทั้งเน้นการให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์แก่สถานศึกษา ควบคู่ไปกับการผลักดันให้สถานศึกษานำข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประเมินคุณภาพภายนอกไปปรับใช้ ผ่านโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ซึ่งดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อให้สถานศึกษาสามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของสถานศึกษาและสถานการณ์ในปัจจุบันได้

ด้าน ดร.วินัย คำวิเศษ ผู้อำนวยการโรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา กล่าวว่า หลังจากเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกกับทาง สมศ. ได้นำข้อเสนอแนะ เรื่องการระบุเป้าหมายและพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน ให้เป็นการเรียน Active Learning ทางโรงเรียนได้นำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงาน ผู้เรียนทุกคนต้องได้รับการศึกษาเต็มศักยภาพ เรียนรู้การสำรวจ วิเคราะห์สภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและชุมชน และกล้าแสดงความคิดสร้างสรรค์ พร้อมลงมือปฏิบัติ จนเกิดทักษะสามารถนำไปต่อยอดสร้างอาชีพ ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรม ถุงมือกันความร้อน กล่องข้าวเก็บความร้อน

อีกทั้งมีแผนงานที่จะปฏิบัติงานตามข้อเสนอแนะของ สมศ. ในการพัฒนาสู่โครงงานนักธุรกิจรุ่นเยาว์ ปูพื้นฐานการประกอบธุรกิจให้กับนักเรียนของเราเพิ่มขึ้น และพัฒนาศักยภาพผู้สอน โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ครูผู้สอนสามารถผลิตสื่อเทคโนโลยี นำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผลการประเมินว่ามีการพัฒนาการสูงขึ้น 3 ปีอย่างต่อเนื่อง ในระดับดีเยี่ยม พร้อมทั้งมีการจัดตั้งชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ร่วมกันระหว่างครูผู้สอน เพื่อนำไปใช้พัฒนาการสอนอย่างต่อเนื่อง