วันที่ 29 ส.ค.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 450,320 คน ตายเพิ่ม 841 คน รวมแล้วติดไป 605,785,320 คน เสียชีวิตรวม 6,487,913 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ไต้หวัน และอิตาลี

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.78 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 81.8

...สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

...อัพเดตความรู้โรคโควิด-19

1. "คนที่เป็นโรคเบาหวานต้องป้องกันให้ดี เพราะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโควิด-19 มากขึ้น"

Shestakova MV และคณะจาก Endocrinology Research Center ประเทศรัสเซีย ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารทางการแพทย์โรคต่อมไร้ท่อ Frontiers in Endocrinology เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานกว่า 235,248 คนในรัสเซีย ตั้งแต่มีนาคม 2563 ถึงพฤศจิกายน 2564 โดยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 จำนวน 11,058 คน และเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 224,190 คน

สาระสำคัญคือ อัตราการป่วยแล้วเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 สูงราว 8.1% และเบาหวานชนิดที่ 2 สูงถึง 15.3%

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงซึ่งทำให้เสียชีวิตนั้นได้แก่ การไม่ได้ฉีดวัคซีน, อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป, และการเป็นเบาหวานมานานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

การวิจัยนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญสำหรับผู้ป่วยเบาหวานในการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้ติดเชื้อ และการไปรับวัคซีน

2. "COVID Rebound นั้นเกิดได้ทั้งในคนที่ได้ยาต้านไวรัส และไม่ได้ยาต้านไวรัส"

ในช่วงวันสองวันที่ผ่านมา มีข่าวในสื่อที่นำเสนอว่า การกินยาต้านไวรัสจะเสี่ยงต่อการทำให้เป็นกลับซ้ำหรือ Rebound มากขึ้น ทั้งนี้ข่าวดังกล่าวเป็นการให้ความรู้ที่ไม่ครบถ้วน คลาดเคลื่อน และอาจทำให้เข้าใจผิดได้

ความรู้ที่ถูกต้องคือ "Rebound" หรือการเป็นกลับซ้ำนั้น เกิดขึ้นได้ทั้งในคนที่ติดเชื้อแล้วกินยาต้านไวรัส หรือไม่ได้กินยาต้านไวรัส

การเป็นกลับซ้ำ เกิดได้ 2 รูปแบบ จะเกิดพร้อมกันหรือเกิดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ได้แก่

หนึ่ง ปริมาณไวรัสในร่างกายปะทุสูงขึ้นมา หลังจากที่ติดเชื้อแล้วได้ยาต้านไวรัสจนปริมาณไวรัสลดลง หรือเวลาผ่านไปแล้วดีขึ้นจนไวรัสลดลง จนตรวจได้ผลเป็นลบ แต่กลับมีปริมาณไวรัสเพิ่มขึ้นอีกครั้ง จนตรวจพบผลบวกกลับมาใหม่ เรียกว่า "Viral rebound"

สอง อาการกลับเป็นซ้ำ กล่าวคือ ติดเชื้อแล้วมีอาการป่วย ต่อมาได้รับยาจนดีขึ้นหรือหายป่วย หรือเวลาผ่านไปแล้วอาการดีขึ้นหรืออาการหมดไป แต่ผ่านไปไม่กี่วันก็กลับมีอาการกำเริบขึ้นมาใหม่หรือแย่ลง เรียกว่า "Symptom rebound"

...โอกาสเกิด Rebound นั้นมีประมาณ 5-10% ในคนที่ติดเชื้อแล้วได้รับยาต้านไวรัส...

...ในขณะที่คนที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัสนั้น งานวิจัยของทีม Harvard Medical School พบว่ามีโอกาสเกิด Viral rebound 12%, (ราว 1 ใน 8 ) และ Symptom rebound ได้มากถึง 27% (ราว 1 ใน 4)...

ดังนั้น หากติดเชื้อ ไม่ว่าจะได้หรือไม่ได้ยาต้านไวรัส การแยกกักตัวในระยะเวลาที่ถูกต้องและนานเพียงพอ (14 วันสำหรับ Omicron หรืออย่างน้อย 7-10 วัน โดยก่อนออกจากการกักตัว ต้องแน่ใจว่าไม่มีอาการ และตรวจ ATK ได้ผลลบ) จึงมีความสำคัญที่จะทำให้แน่ใจเรื่องความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อต่อ

เหนืออื่นใด "การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ"เวลาดำเนินชีวิตประจำวันนอกบ้าน เป็นหัวใจสำคัญที่จะป้องกันตัวเราและครอบครัวในสถานการณ์ระบาดที่ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

เพราะในชีวิตจริง มีโอกาสสูงที่เราจะพบปะกับคนที่ติดเชื้อทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวได้

อ้างอิง

1. Shestakova MV et al. Risk factors for COVID-19 case fatality rate in people with type 1 and type 2 diabetes mellitus: A nationwide retrospective cohort study of 235,248 patients in the Russian Federation. Front Endocrinol (Lausanne). 9 August 2022.

2. Deo R et al. Viral and Symptom Rebound in Untreated COVID-19 Infection. medRxiv. 2 August 2022.