“อาหารแปรรูป” (Processed Food) และ “อาหารแช่แข็ง” (Frozen Food) อาหารที่ครบด้วยสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการ ตอบโจทย์ชีวิตที่เร่งรีบและเวลาที่มีจำกัดให้ดีที่สุด ที่ต้องการอาหารเน้นความสะดวก รวดเร็ว สามารถหาซื้อและทำรับประทานเองได้ง่ายหรือที่เรียกว่า “อุ่นร้อน พร้อมทาน” (Ready-to-Eat) ที่มีให้เลือกหลายรูปแบบและหลายเมนู ทั้งข้าวกล่องพร้อมทาน อาหารไทย อาหารญี่ปุ่น อาหารเกาหลีและอาหารตะวันตก ที่สามารถเป็นอาหารได้ทุกมื้อตลอดวัน เป็นรูปแบบอาหารสำหรับวิถียุคดิจิทัล

ผศ.ดร.กนิฐพร วังใน ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจที่มาของอาหารแปรรูป (Processed Food) ซึ่งเป็นกระบวนการถนอมอาหารรูปแบบหนึ่ง ที่ทำอาหารสดให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารโดยผ่านกรรมวิธีต่างๆ ได้แก่ การล้าง การตัดแต่ง การฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ การแช่เยือกแข็ง การอบแห้ง การหมัก การบรรจุ และอื่นๆ โดยมีการเติมวัตถุเจือปนอาหารเพื่อยืดอายุการเก็บ การเติมวิตามินและเกลือแร่ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ

ส่วนการแช่แข็งอาหารเป็นวิธีการถนอมอาหารอีกรูปแบบหนึ่ง โดยคัดเลือกวัตถุดิบสดคุณภาพดีหลายประเภท ทั้งผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ฯลฯ นำมาล้างและทำความสะอาดอย่างดี นำไปแช่แข็งในลักษณะของสดหรือนำไปปรุงสุกเป็นอาหาร แล้วนำไปลดอุณหภูมิลงให้ต่ำกว่า -18 องศาเซลเซียส เพื่อทำให้น้ำในอาหารเปลี่ยนสถานะกลายเป็นของแข็ง ซึ่งเป็นการชะลอการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ทำให้อาหารไม่เน่าเสีย เก็บเอาไว้ได้นานขึ้น ซึ่งกระบวนการนี้สามารถรักษาคุณภาพของอาหารให้ใกล้เคียงกับอาหารที่ปรุงสุกใหม่ โดยไม่ก่ออันตรายกับผู้บริโภค

ทั้งนี้ หน่วยงานวิจัยและพัฒนาของบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำ จะพัฒนาอาหารให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในแต่ละช่วง โดยกำหนดสูตร ส่วนผสม-เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ และปรุงรสชาติให้รองรับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละกลุ่ม ตามข้อกำหนดและมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำให้เราสามารถเลือกซื้ออาหารแช่แข็งที่มีวางจำหน่ายในหลายรูปแบบ อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย สะดวก ต่อการเลือกซื้อและมีบริการอุ่นร้อนได้ทันทีที่จุดบริการ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาหารแช่แข็งและอาหารแปรรูปจะมีคุณสมบัติเก็บได้นานกว่าของสด แต่ก็มีวันหมดอายุ จึงควรตรวจสอบและเลือกซื้ออาหารแช่แข็งที่มีชื่อผู้ผลิต สถานที่ผลิต วัน เดือนปี ผลิตและวันหมดอายุชัดเจน เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบ รวมถึงอาหารแช่แข็งและอาหารแปรรูปที่ซื้อมาแล้วยังไม่ได้รับประทาน ควรเก็บอาหารเข้าช่องแช่แข็งในตู้เย็นทันที อย่าปล่อยให้อาหารละลายเพราะจะเปิดโอกาสให้จุลินทรีย์กลับมาเจริญเติบโตและทำให้อาหารเน่าเสียได้ และทำให้อายุการเก็บรักษาสั้นลง

ผศ.ดร.กนิฐพร กล่าวย้ำว่า เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค ผู้บริโภคควรสังเกตุดูฉลากโภชนาการอย่างละเอียด เพราะฉลากจะแจ้งปริมาณแคลอรี่ทั้งหมดของอาหารและปริมาณสารอาหารต่างๆ ที่จะได้รับ เพื่อการกินอาหารแช่แข็งให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายและได้สารอาหารที่ต้องการต่อวันครบถ้วน และควรเลือกอาหารแช่แข็งและอาหารแปรรูปที่เป็นเมนูที่ดีต่อสุขภาพ เช่น เมนูข้าวกล้อง หรือข้าวไรซ์เบอร์รี่ เน้นเมนูที่มีผักและเลือกเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่ายเป็นส่วนประกอบเช่น ปลา หรือ เนื้อไก่ และส่วนผสมอื่นๆ ระบุไว้ชัดเจน

นอกจากนี้ ผู้บริโภคต้องตรวจสอบบรรจุภัณฑ์กล่องพลาสติกต้องมีฝาปิดมิดชิดอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ทนทานต่ออุณหภูมิต่ำและสูง ไม่มีรอยรั่ว ฉีกขาด เพราะหากบรรจุภัณฑ์ชำรุดจะทำให้อาหารแช่แข็งเสียคุณภาพ และเมื่อนำเข้าอุ่นในไมโครเวฟ บรรจุภัณฑ์อาจละลายบิดเบียว และอาจมีพลาสติก หรือสารพิษละลายไปปนเปื้อนกับอาหาร ที่สำคัญควรมองหาบรรจุภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์เขียนไว้ ไมโครเวฟเอเบิล (Microwaveable) หรือ ไมโครเวฟ เซฟ (Microwave save) เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยในการอุ่นร้อนของอาหารได้ และไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำอีกเพราะจะมีสารตกค้างจากภาชนะที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้

สำคัญที่สุดสำหรับผู้บริโภค คือ การรับประทานอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ รับประทานในปริมาณที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของร่างกายในแต่ละช่วงวัย ไม่เลือกกินอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไปหรือกินซ้ำๆ เป็นเวลานาน ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เต็มที่ เพื่อสุขอนามัยที่ดีจากอาหารที่ส่งต่อพลังงานไปหล่อเลี้ยงร่างกายให้แข็งแรงและดำเนินชีวิตประจำวันด้วยความสุข