ด้วยปัจจุบัน การประกอบธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีการให้บริการกับประชาชนเป็นวงกว้าง และมีอัตราการขยายตัวสูง โดยในปี 2560 – 2564 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.5 ต่อปี และล่าสุด ณ สิ้นปี 2564 จำนวนธุรกรรมคงค้างของการประกอบธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์รวมแล้วมีประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 12.3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด และประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนธุรกรรมดังกล่าวเป็นการให้บริการของผู้ประกอบการที่มิใช่สถาบันการเงินและมิใช่บริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ (non-bank) ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลที่ชัดเจน อีกทั้งที่ผ่านมา ข้อร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับการใช้บริการดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้น  

ในการนี้ คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยจึงได้เห็นชอบในหลักการให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และมีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้หารือร่วมกันถึงเหตุผล ความจำเป็นและหลักการของกฎหมายเพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจดังกล่าว โดยเห็นควรออกเป็นพระราชกฤษฎีกาภายใต้อำนาจของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 ((ร่าง) พระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 พ.ศ. ....) ซึ่ง (ร่าง) พ.ร.ฎ.ฯ จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1.กำกับดูแลนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นทางค้าปกติ ซึ่งยังไม่มีกฎหมายและหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ 

2.ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจใน 2 ด้าน 

2.1 การรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน เพื่อดูแลระดับหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่เป็นการส่งเสริมให้ผู้บริโภคก่อหนี้สินเกินตัวโดยไม่จำเป็น และ 

2.2 การคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อส่งเสริมและดูแลประชาชนทั่วไปให้ได้รับบริการที่เป็นธรรม ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และไม่ถูกหลอก ถูกบังคับ ถูกรบกวน หรือถูกเอาเปรียบ ตลอดจนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินด้วยราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่ ธปท. ประกาศกำหนดโดยอาศัยอำนาจตาม (ร่าง) พ.ร.ฎ.ฯ อาทิ 1) การกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเปิดเผยข้อมูล เช่น อัตราดอกเบี้ย ค่าบริการ และเบี้ยปรับต่าง ๆ ให้ผู้บริโภคทราบ 2) การยกระดับมาตรฐานการให้บริการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การกำหนดหลักการในการเรียกเก็บดอกเบี้ย การคำนวณเบี้ยปรับ 3) การจัดทำบัญชีและงบการเงินตามมาตรฐานการบัญชี และ 4) การจัดเก็บและการรายงานข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแล 

3.กำหนดบทลงโทษกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตาม (ร่าง) พ.ร.ฎ.ฯ ซึ่งมีโทษทั้งปรับ จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ การกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ดังกล่าวในข้างต้น จะเกิดประโยชน์ต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือ ผู้บริโภค จะได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและเป็นธรรม รวมถึงมีข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกใช้บริการอย่างเพียงพอ ผู้ประกอบธุรกิจ จะได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคในการใช้บริการมากยิ่งขึ้น และสามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมภายใต้การกำกับดูแลตามระดับความมีนัยสำคัญของความเสี่ยง (risk proportionality) และภาครัฐ สามารถกำกับดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน โดยเฉพาะการบริหารจัดการหนี้ครัวเรือนได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังสามารถช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญและคำนึงถึงความเป็นธรรมในการให้บริการด้วย

อย่างไรก็ดี ธปท. และ สศค.ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจมีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งด้านบวกและด้านลบหาก (ร่าง) พ.ร.ฎ.ฯ มีผลบังคับใช้ ดังนั้นจึงขอเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้สนใจ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และสาธารณชน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาปรับปรุง (ร่าง) พ.ร.ฎ.ฯ ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะผ่านทางเว็บไซต์ของ ธปท. (www.bot.or.th) และระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) ได้ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2565 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ทั้งนี้ภายหลังการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากสาธารณชนแล้ว จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนในการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และ ธปท. จะได้ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำร่างประกาศ ธปท. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป