นับตั้งแต่เกิดการระบาดของ “โรค ASF” ในประเทศ ทำให้กำลังการผลิตหมูของไทยเสียหายไปกว่า 50% ปริมาณหมูขุนหายไปกว่า 10 ล้านตัว ประกอบกับผู้เลี้ยงรายกลางและรายเล็กไม่กล้ากลับมาเลี้ยงใหม่ เพราะมีความเสี่ยงและต้นทุนการผลิตสูง ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูทั่วประเทศปรับเพิ่มขึ้น แต่ในช่วงที่ผ่านมา ราคาเนื้อหมูชำแหละลดต่ำลงอย่างไม่มีสาเหตุ ทั้งที่การเลี้ยงหมูยังไม่ฟื้นตัวจากปัญหาโรค ASF จนผู้ประกอบการและผู้เลี้ยงต้องหาสาเหตุ และพบว่าเกิดจากกระบวนการลักลอบนำเข้าหมูชำแหละและเครื่องในจากต่างประเทศ ที่แพร่กระจายวางไปในตลาดต่างๆ อย่างรวดเร็ว มีเนื้อหมูปริมาณมากออกมาขาย และเป็นขบวนการใหญ่มากแต่จับได้เพียงเล็กน้อย โดยขายเนื้อหมูในราคาต่ำกิโลกรัมละ 135-145 บาทเท่านั้น
ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการนำเข้าและเคลื่อนย้ายซากสัตว์ เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้ามาตลอด โดย กรมปศุสัตว์ ได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาหมูเถื่อน ด้วยการดำเนินการ 2 ส่วน คือ การสุ่มตรวจสอบห้องเย็นที่ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ กับการตรวจสอบตามที่ได้รับแจ้งเบาะแสและมีหลักฐานมากพอที่จะขอ “หมายศาล” เพื่อเข้าตรวจสอบ ซึ่งมี “สารวัตรตรวจสอบ” เป็นหัวหน้าคณะ และหากเคสใดเป็นเคสที่มีความอ่อนไหวสูง เช่น มีพื้นที่ติดต่อพรมแดนกับ 5 จังหวัด (หนองคาย-มุกดาหาร-นครพนม-อุบลราชธานี -สุรินทร์) จะมีการใช้ “ชุดเฉพาะกิจ” เข้าไปเสริม เพื่อป้องกันข้อครหาเรื่องความโปร่งใส และให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์
สำหรับผลการตรวจสอบล่าสุด เดือน มกราคม-สิงหาคม 2565 ปรากฏมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดไปแล้ว 8 คดี จับกุมและยึดซากหมูรวม 108,734 กก. มูลค่า 20.5 ล้านบาท ส่วนผลการตรวจสอบ 2562-2565 รวม 15 คดี ยึดซากหมูของกลาง 112,279 กก. มูลค่า 21 ล้านบาท โดยมีการตรวจสอบตามพื้นที่ตะเข็บชายแดนและท่าอากาศยาน 1,172 ครั้ง ยึดซากหมู92,116 กิโลกรัม มูลค่าของกลาง 54.7 ล้านบาท แต่ยิ่งตรวจก็ยิ่งเจอ ยิ่งปราบปรามปริมาณก็ยิ่งเพิ่มขึ้น โดยหมูเถื่อนเหล่านี้บรรจุเป็นกล่องมาในตู้คอนเทนเนอร์ หรือนำเข้าผ่านมาจากชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน จากนั้นก็กระจายไปฝากห้องเย็นในจังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม และห้องเย็นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนั้น ยังมีโรงเชือดซื้อหมูเถื่อนไปสวม “ใบอนุญาต” ก่อนส่งขายกันในตลาดร้านขายเนื้อหมู ร้านหมูกะทะ และร้านข้าวแกงเล็กๆ ทั่วประเทศ จนกระทบต่อราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มของเกษตรกร
อย่างไรก็ตาม มีการออกมาบอกว่า หมูเถื่อนที่ถูกจับได้นั้น เป็นเนื้อหมูในประเทศที่นำมาแช่แข็งไว้ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนแล้วไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจากคนไทยนิยมซื้อเนื้อหมูสด หรือเนื้อหมูที่เพิ่งเข้าโรงชำแหละแล้วออกจำหน่ายเลย จึงไม่มีความจำเป็นต้องนำเนื้อหมูไปแช่แข็งและเก็บสต็อกในห้องเย็นเป็นเวลานาน เพราะนอกจากเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยใช้เหตุแล้ว เนื้อหมูแช่แข็งยังไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ถือเป็น “การเพิ่มต้นทุนโดยไม่เกิดประโยชน์” และหมูเถื่อนที่จับได้ทั้งหมดถูกบรรจุอยู่ในกล่องที่ระบุต้นทาง มาจากเยอรมนี สเปน บราซิล และรัสเซียทั้งสิ้น
ที่สำคัญ ต้นทุนการผลิตหมูของเกษตรกรขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 95-98 บาท ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม ทางสมาคมผู้เลี้ยงหมูแห่งชาติได้ขอความร่วมมือรักษาระดับราคาไว้ที่กิโลกรัมละ 100 บาท มาหลายถึง 14 สัปดาห์แล้ว เมื่อนำเข้าโรงเชือดชำแหละมีค่าดำเนินการต่างๆ รวมเป็นราคาเนื้อหมูไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 200-210 บาท ดังนั้น การขายเนื้อหมูแช่แข็งที่กิโลกรัมละ 135-145 บาท “จึงไม่มีทางเป็นไปได้” เพราะเท่ากับว่า “ต้องยอมขาดทุน” ซึ่งมั่นใจว่า “ไม่มีผู้ประกอบการรายใดทำอย่างแน่นอน”
จึงอยากวิงวอน ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเดินหน้าจัดการปราบปราม “หมูเถื่อน” อย่างจริงจัง ไม่ให้สวมรอยมาเป็นหมูไทย เพราะนอกจากเป็นภัยร้ายนำโรคเข้ามาระบาด แล้วยังเป็นตัวการบ่อนทำลายสมดุลกลไกราคาเนื้อหมูในประเทศ พร้อมกันนี้ยังเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคในการผลิตเนื้อสัตว์คุณภาพดี ปลอดภัย ปราศจากสารเร่งเนื้อแดงเพื่อสร้างความไว้วางให้ผู้บริโภคอีกด้วย
โดย : กัญจาฤก แว่นแก้ว นักวิชาการอิสระด้านปศุสัตว์