บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

ในบรรดาผู้ปลูกพืชผลไม้ให้ฉายา “พืชผลไม้ของเศรษฐี” แก่ “อินทผลัม” (Date palm) หนึ่งใน “พืชเศรษฐกิจ” ใหม่เทรนด์โลกของไทย ที่ผลผลิตต้องเน้นคุณภาพ เช่น มาตรฐานปลูก GAP ด้วยมีราคาและต้นทุนที่สูง แต่ทว่าปัจจุบันกำลังประสบปัญหาเหมือนพืชเศรษฐกิจตัวอื่นๆ เพราะผลจากการตลาด (Marketing & Distribution) ตามหลัก Demand & Supply อินทผลัมได้รับความนิยม เพราะปลูกง่าย ขายได้ทั้งผลผลิต และทำเป็นไม้สวนประดับตกแต่งบ้าน แม้ว่าเมื่อราว 3-5 ปีก่อน ได้มีการเตือนเกษตรกรผู้ปลูกว่าให้ระวังว่าจะถูกหลอก แต่ช้าไปเพราะมีเกษตรกรหลงเชื่อปลูกกันมามากนานแล้ว (ผลผลิตจะออกปีที่ 3) ก็ยังพบว่ามีการหลอกลวงตุ๋นปลูกอินทผลัม ด้วยราคาผลผลิตที่คนปลูกคาดหวังไว้สูง

ไทยเริ่มมีการปลูกอินทผลัมมามากตั้งแต่ปี 2555-2558 ราคาต้นพันธุ์สมัยนั้นแพงประมาณ 800 บาท เกษตรกรไทยปลูกอินทผลัมมากกันทุกภาค ภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ KL1 (แม่โจ้) ซึ่งซื้อกล้าพันธุ์จากแหล่งปลูกใหญ่ในพื้นที่อำเภอไชยปราการ จ.เชียงใหม่ และสายพันธุ์เดกเล็ทนัวร์ (Deglet Nour) จากแหล่งจำหน่ายกล้าอินทผลัม อำเภอเมือง จ.เชียงใหม่ ล่าสุดเกษตรกรไทยสามารถพัฒนาอินทผลัมพันธุ์ใหม่ "พันธุ์ตาหวาน" ที่มีราคาสูงถึงช่อละสองหมื่นบาท

อินทผลัมสามารถเจริญเติบโตได้ดีในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้งแบบทะเลทราย โดยผู้ผลิตอินทผลัมรายใหญ่ของโลก ได้แก่ อียิปต์ อิหร่าน และซาอุดิอาระเบีย ในปัจจุบันการปลูกอินทผลัมในประเทศไทย นอกจากนี้อินทผลัมเป็นผลไม้ที่อนุญาตให้ทานได้ (ยกเว้น)ให้กินแทนน้ำได้ ในช่วงถือศีลอดของชาวมุสลิม

อินทผลัมปลูกได้ทั่วประเทศ เช่น จ.นนทบุรี สมุทรสาคร ลพบุรี อ่างทอง กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ระยอง  อีสานก็ปลูกอินทผลัมกันเยอะ แถว ร้อยเอ็ด ขอนแก่น นครราชสีมา เลย ยโสธร มหาสารคาม อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ ภาคเหนือที่ เชียงใหม่ เชียงราย ภาคเหนือตอนล่างที่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ที่ภาคใต้ก็มีปลูก เป็นต้น มาดูองค์ความรู้ผลไม้นี้กัน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของอินทผลัม

เป็นผลไม้เก่าแก่ทางประวัติศาสตร์กว่า 5,000 ปี สามารถเจริญเติบโตในบริเวณที่มีอากาศร้อนหรือแห้งแล้งได้เป็นอย่างดีและมีหลากหลายสายพันธุ์ มีคุณค่าทางโภชนาการ ชื่อสามัญว่า Date Palm ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phoenix dactylifera L. เป็นพืชตระกูลปาล์ม มีทั้งสายพันธุ์ประดับ บริโภคผลสด และบริโภค ผลแห้ง เริ่มให้ผลผลิตได้เมื่อต้นมีอายุ 4-7 ปีขึ้นไป หากอายุต้นมากกว่า 5 ปี ผลจะไม่ฝาด ผลผลิตที่ออกในปีแรกหรืออายุต้น 3 ปี

ลักษณะเป็นต้นเดี่ยวและแตกหน่อทางด้านข้าง มี กาบก้านใบห่อหุ้มต้น ใบ ลักษณะเป็นแบบขนนก ทางใบชี้ตรงขึ้นไป ไม่โค้งลง ปลายใบแหลมคม ใบสีเขียว อ่อน ใต้ใบสีเทา ใบย่อยพุ่งออกหลายทิศทาง ก้านทางใบมีหนามแหลมยาวและแข็งมาก

ดอก ช่อดอก ออกเป็นจั่นทางโคนใบ เป็นดอกไม่สมบรูณ์เพศ ดอกตัวผู้และตัวเมียแยกกันอยู่คนละต้น คือ ดอกมีแต่เกสรตัวเมียทั้งต้น และมีแต่เกสรตัวผู้ทั้งต้น เวลาผสมพันธุ์ก็ต้องให้ละอองของต้นเกสรตัวผู้ไปผสมกับเกสรของต้นตัวเมีย ดังเช่น ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง, มะละกอ, ตำลึง, สาละ, ตาล, เสลดพังพอน, หมาก, มะยม, กัญชา, กีวี, แปะก๊วย, สาลิกา ฯลฯ เป็นต้น

ลักษณะของดอก ตัวผู้ กลีบดอกเป็นแฉกๆ สีขาวคล้ายหางกระรอก ดอกตัวเมียเป็นช่อเม็ดกลมๆ สีเขียวอ่อน ผล มีลักษณะ เป็นช่อผล

ผลมีหลายลักษณะทั้งรูปทรง กลม กลมรี และเรียวยาว ผลยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร สีผลมี หลายสีทั้งเหลือง น้ำตาล ส้ม แดง ไปจนถึงดำขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ผลสุกมีสีเหลืองจนถึงสีส้มและเปลี่ยนเป็น สีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้มเมื่อแก่จัด ผลสดมีรสหวาน ติดฝาดเล็กน้อย ผลแห้งรสหวานฉ่ำ

อินทผลัมเป็นผลไม้ของเศรษฐี เพราะราคาแพง แถมยังดูแลยาก แต่ก็มีผู้ปลูกและส่งเสริมการปลูกแก่เกษตรกรมาเกิน 10 กว่าปีแล้ว และมีการรวมกลุ่มผู้ปลูกในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน มีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อินทผลัมโดยส่วนราชการ (เช่นเรื่องการให้น้ำที่แตกต่างกัน) มีผลผลิตสูง มีการเพาะเนื้อเยื่อ เพื่อลดความเสี่ยงการเพาะเมล็ดแล้วไม่ได้คุณภาพหรือลดการนำเนื้อเยื่อจากต่างประเทศ มีการใช้เทคโนโลยีการแยกเพศ มีกล้าพันธุ์จำหน่าย มีความสนใจจากเศรษฐีนักธุรกิจตะวันออกกลาง ที่ถือเป็นจุดแข็งในยุทธศาสตร์การพัฒนาอินทผลัมไทยอย่างยั่งยืนได้ก็ตาม คาดว่าปัจจุบันไทยมีผลผลิตต่อปีหลายร้อยตัน

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อขยายพันธุ์อินทผลัม

มีวิธีการเพาะเลี้ยงแคลลัสและการพัฒนาเป็นต้นกล้า เพื่อแก้ปัญหาอินทผลัมที่ปลูกจาก "ไม้เมล็ด" มีรสชาติฝาด รสชาติไม่นิ่ง ปลูกแล้วได้ต้นตัวเมียน้อย และทำตลาดได้ยาก การขยายพันธุ์ตามธรรมชาติโดยใช้เมล็ดหรือหน่อ และโดยผ่านกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เป็นพืชแบบ Heterozygous ดังนั้นหากขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดมักจะเกิดการกลายพันธุ์ และยังมีความแปรปรวนของพันธุกรรมสูง มีความไม่แน่นอนว่าจะได้ต้นตัวผู้หรือต้นตัวเมียในอัตราส่วนเท่าไร จึงทำให้มีการพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขึ้น ในต่างประเทศมีสถาบันวิจัยขยายพันธุ์เพื่อการค้าใช้เทคนิคดังกล่าว เช่น ฝรั่งเศส, อิสราเอล, ซาอุดิอาระเบีย, โมร็อคโค, โอมาน, UAE (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) และ สหราชอาณาจักร เป็นต้น

ชื่อสายพันธุ์อินทผลัมต่างๆ ในไทย

ที่ปลูกมีหลายสายพันธุ์ ที่ปลูกมาก ยกตัวอย่างเช่น (1) พันธุ์ไทย (KL1) หรือ สายพันธุ์ KL1 (หรือ แม่โจ้ 36) (2) พันธุ์ 47Q 0536304 UTM 1983976 202 m. นำเข้าจากอิรัก ผลสีเหลืองนวล (3) พันธุ์เมดจูล (Medjun,Mejhool) ถิ่นกำเนิดโมร็อกโก ผลแห้งสีน้ำตาลเข้ม มีขนาดใหญ่ รสหวานฉ่ำ ทานดี (4) พันธุ์บาร์ฮี Barhee, Barhi มีถิ่นกำเนิดอิรัก ทานผลสดดี เป็นแอปเปิลแห่งตะวันออกกลาง (5) พันธุ์เดกเล็ทนัวร์ Deglet Nour มีถิ่นกำเนิดแอลจีเรียและตูนิเซีย กินผลแห้งดี มีการส่งออกไปยังต่างประเทศมากที่สุด เป็นราชินีแห่งอินทผลัม (6) พันธุ์โคไนซี่ Khonaizi ไม่ปรากฏถิ่นกำเนิดแน่ชัด แต่เกษตรกรโอมานนิยมปลูก ทนต่อความร้อนและความแห้งแล้ง (7) พันธุ์อัจวะห์, อัซวา Ajwah มีถิ่นกำเนิดซาอุดีอาระเบีย กินผลแห้งดี ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน ตลอดจนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนกับพันธุ์อื่นๆ เพราะมีเนื้อเหนียวและไม่ค่อยหวาน (8) พันธุ์คาสาส Khalas มีถิ่นกำเนิดซาอุดีอาระเบีย ได้รับการยกย่องให้เป็นสายพันธุ์ที่อร่อยที่สุด เพราะมีเนื้อเหนียวและนิ่ม (9) พันธุ์ซาฮีดี้ (Zhahedi) หวานน้อย นอกจากนี้ยังมีพันธุ์อื่นๆ อีกมากมาย ที่มีราคาขายแพง เช่น อัมเอ็ดดาฮาน (um ed dahan) เบรม (Braim) ฮัซซาวี่ (Hassawi) พันธุ์ไทยเช่น พันธุ์ตาหวาน (เพาะเมล็ด) G2 (เพาะเนื้อเยื่อ) เป็นต้น

คุณค่าทางโภชนาการและการแพทย์ของอินทผลัม

อินทผลัมเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยประโยชน์ มีสารที่มีประโยชน์มหาศาล ช่วยบำรุงร่างกายขจัดความเมื่อยล้า ลดระดับน้ำตาลในเลือด วงการแพทย์แผนปัจจุบันค้นพบว่า อินทผลัมประกอบด้วยน้ำมัน แคลเซียม วิตามิน A วิตามิน B1 วิตามิน B2 วิตามิน B6 วิตามิน K ซัลเฟอร์ เหล็ก และโพแทสเซียม รวมทั้งมีสรรพคุณทางยา ดังนี้ ในระบบโครงกระดูก อินทผลัมป้องกันโรคกระดูกพรุนและบำรุงฟัน ในระบบไหลเวียนโลหิต อินทผลัมป้องกันโรคหลอดเลือดในสมองและโรคความดันโลหิตสูง ในระบบย่อยอาหาร อินทผลัมป้องกันอาการท้องผูกพร้อมกับฆ่าเชื้อโรคต่างๆ พยาธิ และสารพิษที่ตกค้าง ในระบบสืบพันธุ์ อินทผลัมเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ นอกจากนั้น อินทผลัมยังสามารถบรรเทาอาการซึมเศร้าได้อีกด้วย ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ควรกินเป็นอย่างยิ่ง เพราะอินทผลัมขยายมดลูกช่วงคลอดบุตร ลดอาการตกเลือดหลังการคลอดบุตร และเพิ่มสารอาหารสำคัญในน้ำนม เพิ่มน้ำนมแม่ ทำให้บุตรมีร่างกายแข็งแรง ชาวบ้านยังเชื่อว่า ทานอินทผลัมทำให้แผลผ่าตัดอุบัติเหตุหายไว สรุปคุณค่าทางโภชนาการ เช่น บำรุงร่างกาย เพิ่มกำลัง ขจัดความเมื่อยล้า บำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน อุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร ช่วยในการย่อยอาหาร

แนวโน้มการเปิดอินทผลัมสู่ตลาดโลก

มีการตั้งสมาคมผู้ปลูกอินทผลัมแห่งประเทศไทยขึ้น มีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศอยู่ระหว่างดำเนินการผลักดันให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์บรรจุให้อินทผลัมเป็นพืชปลูกได้ในประเทศไทย ซึ่งไทยมีศักยภาพส่งออกผลผลิตได้ เพื่อผลักดันการปลูกมิใช่เฉพาะการส่งเสริมการปลูก แต่ต้องพัฒนาการตลาดและการแปรรูปเพื่อการจำหน่ายและการส่งออกด้วย และให้บรรจุอินทผลัมเป็นพืชปลูกได้ในประเทศไทย มีสวนตัวอย่าง ที่อำเภอปักธงชัย จ.นครราชสีมา เปิดเมื่อ 20 กรกฎาคม 2565

รวมๆ ปัญหาอุปสรรคการปลูกอินทผลัมในประเทศไทย

(1) อินทผลัมเป็นพืชแหล่งกำเนิดทะเลทราย เมื่อนำมาปลูกในประเทศไทยจึงมีปัญหาที่อาจแตกต่างจากถิ่นเดิม ด้วยราคาต้นทุนการดูแลปลูกสูง แต่มีปัญหาด้านการขยายตลาด ล้นตลาด ขายไม่ได้ และไม่มีหน่วยงานใดมารับประกันราคาผลผลิตล้นตลาดทั้งผลสดและที่อบแห้ง การบริโภคผลสดในไทยยังไม่นิยม เพราะส่วนใหญ่จะรสฝาด หากรสหวานก็มีราคาแพงเมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่น 1 ต้น ให้ผลผลิตมากถึง 150-200 ก.ก. ในฤดูจึงล้นตลาด เหมือนเช่น โกโก้ (Cocoa) ตามที่มีข่าวแล้วเมื่อต้นปี ยังมีผลไม้หลักตามฤดูกาลอื่นของไทยอีกมากที่มีปัญหาล้นตลาด แต่ก็อยู่ได้เพราะเป็นมานานแล้ว เช่น ลำไย มังคุด เงาะ ทุเรียน มะม่วง ลองกอง กล้วย แก้วมังกร แตงไทย แตงโม เป็นต้น

(2) การปลูกอินทผลัมช่วงปีแรก ต้องหมั่นดูแลรักษาสำรวจแปลงทั้งเช้าเย็น หากพบศัตรูแมลงคาม และด้วงมะพร้าวที่มาฝังตัวกัดกินทำลายยอดต้องรีบทำลาย

(3) ปัญหาการหลอกลวงปลูกอินทผลัมกันมานานแล้ว จากที่ขายกันปีที่แล้วราคา ก.ก.ละ 200-300 บาท ปีนี้เหลือ ก.ก.ละ 100 บาท แม้ว่าบางแห่งยังขายกันแพงๆ ได้อยู่ก็เพราะเป็นสินค้าคุณภาพ เช่นราคาที่ ก.ก.ละ 500-600 บาท (พันธุ์โคไนซี่ สีแดง) มีข้อสังเกตในปัญหาวิกฤติราคาที่ขาย ที่ผลผลิตจะมีมากในช่วงฤดูการผลิต เช่น มีการตัดราคากันระหว่างสวน มีพ่อค้าคนกลางตัดราคากัน นอกจากนี้ราคาผลอบแห้งมาจากประเทศต้นทาง ราคาถูกไม่ถึง ก.ก.ละ 50-85 บาท แต่ปีนี้เจอลูกหวานกรอบลูกโต แต่ราคาถูกลง รสไม่ฝาด มีลูกใหญ่กว่าปีก่อนๆ ปีก่อน ก.ก.ละสูงถึง 500-700 บาท แต่ลูกเล็กกว่า ฝาดด้วย มาปีนี้ลูกใหญ่แต่ ก.ก.ละ 100 กว่าบาท ยิ่งซื้อยกจั่นยิ่งถูก มีการแข่งขันราคากันมาก หากเป็นราคาส่งตกราว ก.ก.ละ 150-180 บาท ตามขนาดผลคุณภาพ ชาวสวนที่ฉลาดจะไม่ขายอินทผลัมส่วนเกินออกมาสู่ตลาดค้าส่ง แม้สวนใหญ่ๆ บางสวน ตัดออกมาวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 1 ตัน ก็ควรวางแผนด้านการตลาด

(4) เรื่องนี้เป็น “ระบบเกษตรพันธสัญญา” (Contract Farming) ควรใช้มาตรการบังคับช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาตาม “พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560” ใช้บังคับ 23 กันยายน 2560 ที่รัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือแทรกแซง โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย

(5) ในกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชปัจจุบัน อินทผลัมเป็นชนิดพืชที่ประกาศกำหนดให้พันธุ์ใหม่ยื่นจดทะเบียนคุ้มครองได้จากจำนวนทั้งหมด 91 รายการกลุ่มพืช ในกลุ่มพืชไม้ผล/ไม้ยืนต้น (25 รายการ)

เมื่อปี 2556 ชาวบ้านในจังหวัดทางภาคเหนือ ถูกแอบอ้างโครงการพระราชดำริฯ จากเจ้าหน้าที่บริษัทแห่งหนึ่งหลอกให้ลงทุนเพาะปลูก ยอดความเสียหายกว่า 10 ล้าน แต่มีการจับกุมผู้ต้องหาได้ในภาคอีสานเมื่อปี 2562 (ข่าว 20 เมษายน 2562)

(6) ล่าสุดข่าวปี 2565 ที่ อำเภอพนมไพร จ.ร้อยเอ็ด จากเมื่อ 4 ปีที่ก่อนกลุ่มข้าราชการเกษียณ 2,564 ราย ถูกหลอกปลูกอินทผลัม ค่าปลูกไร่ละ 5.7 หมื่นบาท และยังต้องซื้อปุ๋ยซื้อยาจากบริษัท รวมมูลค่าเสียหายกว่า 60 ล้านบาท ด้วยหวังรวยจากคำชักชวนที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ปรากฏว่าเมื่อผลผลิตออกบริษัทกลุ่มผู้ชักชวนไม่รับผิดชอบ

ปัญหาในรายละเอียดปลีกย่อยอื่นยังมีอีกมากมาย หวังว่าอินทผลัมคงไม่เจอปัญหาแบบพืชเศรษฐกิจอื่นๆ หากรัฐเข้ามาช่วยเหลือแทรกแซง