สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

ในบรรดาพระสกุลลำพูนมีพระเครื่องอยู่หลายแบบ พระกรุที่เด่นๆ ก็จะเป็นพระกรุของ วัดประจำทิศทั้ง 4 ของเมืองหริภุญชัย ที่พระนางจามเทวีได้ทรงสร้างไว้วัดมหาวันก็จะ เป็นพระรอด พระกรุวัดประตูลี้ก็จะเป็นพระเลี่ยง พระกรุวัดพระคงฤๅษีก็จะเป็นพระคง พระกรุวัดดอนแก้วก็จะเป็น พระบาง

พระเครื่องกรุวัดประตูลี้เท่าที่มีบันทึกระบุว่ามีการขุดพบพระเครื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2417 โดยเจ้าหลวงดิเรกรัตนไพโรจน์ (ดาวเรือง) เจ้าหลวงลำพูนองค์ที่ 8 ได้ปฏิสังขรณ์พระอารามแห่งนี้ และได้พบพระเครื่องชนิดต่างๆ เช่น พระเลี่ยง พระเลี่ยงหลวง พระลือ พระสาม และ พระสิบสอง พระเลี่ยงเป็นพระเนื้อดินเผาที่มีกรวดผสม องค์พระจะค่อนข้างเล็ก มีรูปทรงสามเหลี่ยมที่โบราณาจารย์ท่านให้ความหมายว่าหมายถึง “ไตรรัตน์” คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ มีพุทธศิลปะไปทางพุทธศิลปะเมืองละโว้  

พระเลี่ยงเป็นพระที่มีจำนวนการพบมากกว่าพระชนิดอื่นๆ และมีขนาดกำลังพอเหมาะที่จะห้อย แขวนคอ จึงได้รับความนิยมมากกว่าพระเครื่องชนิดอื่นๆ ในกรุเดียวกัน พุทธลักษณะองค์พระประทับนั่งแสดงปางมารวิชัย ประดับอาภรณ์ลักษณะเป็นแบบ “ทรงเทริด” อันเป็นแบบลัทธิมหายาน เหนืออาสนะฐาน 3 ชั้น พระเศียรเป็นหมวกแบบ 3 กลีบ พระพักตร์ยาว คางแหลม พระเนตรแบบกลมโต และนูนสูงออกมาชัดเจน พระกรรณมีตุ้มหูประดับยาวลงมาถึงพระอังสะ พระอุระแคบ พระวรกายชะลูด พระนาภีปรากฏเส้นเล็กๆ 2 เส้น น่าจะเป็นเส้นขอบสบง พระเพลากว้างมาก ลักษณะเหมือนคนผอมสูง พระพาหาอยู่แนบองค์พระ ช่วงงอข้อศอกด้านซ้ายขององค์พระกางเล็กน้อย พระกรด้านขวาขององค์พระหักยื่นออกไปหาพระเพลาซึ่งมีระดับยื่นออกมาเล็กน้อย มีฉัตร 5 ชั้น เหนือองค์พระ อันเป็นเครื่องหมายแสดงถึงองค์พระมหากษัตริย์ มีเส้นปริมณฑลโดยรอบฉัตรเป็นเส้นนูน เล็ก และคม นอกเส้นปริมณฑล มีเส้นนูนเล็กๆ สั้นๆ เรียงทะแยงโดยรอบอย่างสม่ำเสมอ บังสูรย์เป็นรูปกลีบบัว เส้นคมชัดสวยงามมาก ระหว่างเส้นบังสูรย์กับพระพักตร์เป็นร่องลึก และมีร่องรอยก้อนกรวดและมีคราบขี้กรุ “ฐานชั้นบน” เป็นบัวไข่ปลา 2 แถว “ฐานชั้นกลาง” เป็นรูปหัวช้างหรือหัวกุมภัณฑ์ 3 หัว และ “ฐานชั้นล่าง” เป็นเส้นนูนกว้างยาวตลอดฐาน ด้านข้างทั้งสอง มีรูปมนุษย์หรือยักษ์หรือมารนั่งแสดงความเคารพด้วยการถือดอกบัวทั้ง 2 ข้าง

พระเลี่ยงมีการขุดค้นพบจากแหล่งใหญ่ๆ 2 กรุ คือ กรุวัดประตูลี้และกรุวัดดอยติ

พระเลี่ยง กรุวัดประตูลี้ มีการเปิดกรุใกล้เคียงกับพระรอด และพระคง ในช่วงสงครามโลกเมื่อปี พ.ศ.2484 เป็นการแตกกรุครั้งแรกและค้นพบพระเลี่ยงครั้งใหญ่ จากความเก่าแก่ขององค์พระน่าจะเป็นพระที่สร้างในรุ่นราวคราวเดียวกับพระรอดและพระคงเช่นกัน มี 2 เนื้อ คือเนื้อดินละเอียดและเนื้อดินปนกรวด

พระเลี่ยง กรุวัดดอยติ ขุดค้นพบที่พระธาตุวัดดอยติ ซึ่งอยู่บนเขาและห่างจากตัวเมืองประมาณ 6 กม. แบ่งออกได้เป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก “พระเลี่ยง กรุวัดดอยติ พิมพ์ใหญ่” มีขนาดและพุทธลักษณะต่างๆ เหมือนพระเลี่ยง กรุวัดประตูลี้ ทั้งความเก่าของเนื้อองค์พระ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะนำพระเลี่ยงจากกรุวัดประตูลี้มาบรรจุไว้ แต่สำหรับ “พระเลี่ยงพิมพ์เล็ก” ดูจากขนาดและสีเนื้อขององค์พระ น่าจะสร้างขึ้นในรุ่นหลังมากกว่า ส่วนพระเลี่ยง ที่ขึ้นจากกรุดอนแก้วนั้น พบทั้ง 2 พิมพ์ คือ ฐานบัวกลม และฐานบัวเหลี่ยม พระส่วนใหญ่เนื้อละเอียดกว่าของกรุวัดประตูลี้ แต่เป็นพระพิมพ์เดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบพระเลี่ยงที่ กรุกู่เหล็ก กรุวัดมหาวัน ซึ่งเป็นพระเก่าเช่นเดียวกับกรุวัดประตูลี้ แต่มีจำนวนน้อยมาก พระเลี่ยงมีพุทธคุณเป็นเลิศปรากฏในด้านพลังแห่งความมั่นคงและเลี่ยงจากภยันตรายต่างๆ เช่นเดียวกับพระรอด กรุวัดมหาวันครับผม