ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

“คนมีกรรม” คือคนมีทุกข์ ความทุกข์ไม่เกี่ยวกับรวยหรือจน เพราะแต่ละคนมีกรรมเป็นของตนเอง

ในปีต่อมาแม่พาบุญตาเข้ากรุงเทพฯ แม่กางจดหมายฉบับหนึ่งออกมาอ่านเป็นระยะเพื่อให้จำได้แม่น เพราะเป็นจดหมายบอกทางให้ขึ้นรถเพื่อไปยังบ้านที่นัดหมาย เมื่อลงรถ บขส.ที่หมอชิตแล้ว ก็ต้องนั่งรถเมล์ไปอีก 2 ทอดใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง จึงไปถึงบ้านหรือที่ทำงานใหม่ของบุญตาที่สำโรง ที่บ้านนี้มี “เพื่อนเก่า” ของแม่ที่เคยเติบโตมาด้วยกัน และมาทำงานอยู่ที่บ้านนี้ตั้งแต่ยังสาว ๆ คอยจัดแจงฝากให้บุญตาได้มาอยู่ พอได้เจอ “คุณผู้หญิง” ของบ้านแล้ว ก็ไม่มีพิธีรีตองอะไรมาก แค่ถามชื่อและสุขภาพของบุญตา คุณผู้หญิงก็ตกลงรับไว้ แต่ก็ไม่ได้พูดถึงเงินเดือนและการเข้าโรงเรียนของบุญตาแต่อย่างใด ตอนนั้นใกล้เที่ยงแล้ว แม่คงหิวข้าวเป็นกำลัง เพราะทั้งแม่และบุญตากินข้าวมื้อสุดท้ายก็เมื่อตอนเที่ยงของวันก่อน แต่เพื่อนของแม่ก็บอกให้แม่รีบกลับไปก่อนที่คุณผู้หญิงจะเปลี่ยนใจ โดยเพื่อนเอาเงินให้แม่ 100 บาท ก่อนที่จะพูดว่าคงเหลือพอให้ไปหาข้าวกิน ส่วนบุญตาก็ได้กินข้าวมื้อแรกในตอนค่ำ หลังจากที่คนในบ้านกินกันหมดแล้ว

อยู่บ้านที่สำโรงมาเดือนกว่า จนพอรู้จักไปรษณีย์และร้านค้าต่าง ๆ รวมทั้งได้รับเงินเดือนจากคุณนาย 400 บาท บุญตาฝากเงินทางธนาณัติส่งไปให้แม่ 200 บาท เพราะต้องหักให้เพื่อนแม่ที่ออกเงินให้แม่รีบกลับบ้านในตอนที่มาส่งตัวบุญตานั้น พร้อมกับเขียนจดหมายเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้พ่อและแม่ฟัง บุญตาไม่กล้าเขียนถึงเรื่องความทุกข์และความเหงาที่ต้องมาอยู่บ้านนี้ โดยเขียนเล่าในบางเรื่องว่า คุณผู้หญิงไม่ได้ดุอย่างที่แม่ได้เห็นในตอนวันที่มาส่ง เพียงแต่บุญตาต้องทำงานหลาย ๆ อย่างในบ้าน โดยเป็นผู้ช่วยของเพื่อนของแม่ ที่จะคอย “มอบงาน” ในแต่ละวันให้อย่างมากมาย ตั้งแต่รดน้ำต้นไม้ ล้างและเช็ดรถ กวาดบ้าน ถูบ้าน ซักผ้า ล้างจาน เช็ดทำความสะอาดตู้เย็น ลูกมือทำครัว และทำอาหารต่าง ๆ รวมทั้งคอยซื้อของ วิ่งไปปากซอย ซึ่งบุญตาชอบมาก อีกอย่างหนึ่งที่บ้านสำโรงนี้ก็ไม่มีเด็กเล็ก มีวัยรุ่นที่อายุมากว่าบุญตาคนละ 2 และ 5ปี ชาย 1 หญิง 1 ซึ่งเป็นลูกของคุณผู้หญิง ซึ่งลูกสาวคนโตของคุณผู้หญิงนี้ดีกับบุญตามาก คอยแบ่งเสื้อผ้าและของกินให้กับบุญตาอยู่เป็นประจำ ส่วนลูกชายนั้นออกจะบ๊อง ๆ ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร

คุณผู้หญิงทำงานราชการอยู่กระทรวงยุติธรรมอายุราว 40 ปี ซึ่งก็มากกว่าแม่ของบุญตาไม่กี่ปี  คุณผู้ชายเป็นผู้พิพากษา อายุใกล้ 60 ปี ว่ากันว่าด้วยความที่โลกของท่านค่อนข้างแคบ จึงเอาเสมียนหน้าห้องมาเป็นภรรยา ซึ่งก็คือคุณผู้หญิงที่อยู่กันมาจนมีลูกสองคนนี้ พร้อมกับรับเอาแม่กับพ่อของภรรยามาอยู่บ้านด้วย ในบ้านนี้จึงมีคนอยู่ทั้งหมด 8 คน โดยไม่ได้รวมคนขับรถของคุณผู้ชายที่มารับคุณผู้ชายไปทำงานในตอนเช้า และมาส่งบ้านในตอนเย็น ซึ่งไม่ได้พักอยู่ในบ้าน โดยในบริเวณบ้านขนาด 200 ตารางวา มีบ้านหลังใหญ่ที่คุณผู้หญิงและคุณผู้ชายกับลูก 2 คนอาศัยอยู่ บ้านหลังเล็กที่พ่อกับแม่ของคุณผู้หญิงอยู่ท้ายสวนหลังบ้าน และเรือนแถวติดกับเรือนเล็กที่บุญตากับเพื่อนของแม่อาศัยอยู่ คุณผู้ชายไม่ค่อยมาคุยกับคนใช้อย่างเพื่อนแม่และบุญตาเท่าใดนัก นอกจากเวลาที่ได้ต้นไม้ใหม่และแนะนำให้รดน้ำมากน้อยตามนิสัยของต้นไม้ รวมถึงแนะนำให้เช็ดรถในซอกมุมที่จะทำให้รถมีความสวยสะอาดโดดเด่น

บุญตาไม่กล้าบอกแม่ว่าคุณผู้หญิงไม่ให้บุญตาเรียนหนังสือ แต่บอกว่าบุญตาสงสารคุณผู้หญิง ที่ต้องดูแลทั้งสามี ลูกสองคน กับพ่อและแม่ และไม่กล้าบอกว่าคุณผู้หญิงนั้นอารมณ์เสียอยู่บ่อย ๆ เพราะไม่ค่อยได้ออกงานสังคม เช่น งานเลี้ยงสังสรรค์ หรือแม้แต่ออกไปคบหาสมาคมกับเพื่อนฝูง เพราะเป็นข้อห้ามของสามีที่เป็นผู้พิพากษา ดีที่เพื่อนแม่อธิบายเรื่องต่าง ๆ นั้นให้บุญตารู้ไว้บ้างเสียก่อน ทำให้บุญตาไม่ต้องอกสั่นขวัญแขวนกับเวลาที่เจออารมณ์ร้ายของคุณผู้หญิง ในขณะเดียวกันบุญตาก็สงสารคุณผู้ชายมาก ๆ ที่ในสังคมภายนอกต่างก็เรียกท่านว่า “ใต้เท้า” แต่ในบ้านนั้นต้องคอยรองรับอารมณ์ของภรรยาอย่างที่ไม่มีทางเลี่ยง ดังนั้นวันเสาร์อาทิตย์ที่ท่านต้องอยู่บ้าน ท่านก็จะใช้ดนตรีไทยที่ท่านเคยเล่นมาตั้งแต่ที่เคยเรียนมาในชั้นมัธยม เป็นเครื่องบำบัดความวุ่นวาย อย่างน้อยก็ไม่ให้คุณผู้หญิงมายุ่มย่ามกับท่านมากนัก

บุญตามีคุณผู้ชายเป็น “ตัวอย่าง” (อย่างที่คนในสมัยนี้เรียกว่า “ไอดอล”) คือมีความอดทนอย่างมากในทุก ๆ เรื่อง โดยเฉพาะอดทนกับคุณผู้หญิงและลูก ๆ วัยรุ่นสองคน ซึ่งคุณผู้หญิงมักจะมาบอกว่ามีทนายความหรืออัยการติดต่อมาในคดีนั้นคดีนี้ เพื่อขอความอนุเคราะห์หรือให้คำชี้แจงต่าง ๆ ซึ่งคนที่เป็นผู้พิพากษาต้องระมัดระวังอย่างมาก ส่วนลูกวัยรุ่นก็เริ่มมีความรู้สึกว่าพ่อทำตัวห่างเหินจากลูก รังเกียจอาชีพผู้พิพากษาของพ่อ และเห็นว่าพ่อนั้นเป็นศักดินา อยู่ในสังคมแบบเก่า ๆ และทำให้บ้านเมืองล้าหลัง ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวกำลังอยู่ในช่วงหลังเหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค” 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โดยที่ลูกสาวของบ้านนี้ที่เพิ่งเข้าเรียนในชั้นปีหนึ่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทะเลาะกับพ่อเป็นประจำ เพราะพ่อได้ตักเตือนไม่ให้ทำผิดกฎหมาย แต่ลูกสาวก็ได้ตำหนิพ่อว่า พ่อนั่นแหละที่เป็นศักดินารับใช้ระบบเก่า

ในปี 2519 หลังการรัฐประหารวันที่ 6 ตุลาคม ลูกสาวของบ้านนี้ก็หนีออกจากบ้าน ขณะที่กำลังเรียนอยู่ในปีสุดท้าย ทั้งบ้านนี้จึงวุ่นวายมาก คุณผู้ชายเองก็เกษียณอายุราชการมาหลายปีก็เป็นทุกข์ร้อนมาก เพราะไม่มีบารมีอะไรที่จะคุ้มครองลูกสาว ส่วนคุณผู้หญิงนั้น “แทบจะเป็นบ้า” ด้วยเกรงว่าลูกสาวจะมีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา และยิ่งรู้ว่าลูกสาวไปอาศัยอยู่กับพวกคอมมิวนิสต์ในป่า ก็ยิ่ง “แทบจะคลั่ง” โดยคุณผู้หญิงเริ่มมีอาการป้ำ ๆ เป๋อ ๆ ถึงขนาดที่ต้องเอาตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลศรีธัญญา แต่คุณผู้ชายนั้นดูจะมีความทุกข์มากกว่า เพราะไม่สามารถช่วยอะไรได้ทั้งลูกสาวและภรรยาของตัวเอง

ในช่วงเวลาเดียวกัน บุญตาก็ได้รับข่าวจากทางบ้านว่าพ่อได้รับอุบัติเหตุ ขณะไปช่วยตำดินดำบรรจุใส่บ้องไฟ ในเทศกาลขอฝนที่จัดกันทุกปีในตอนเดือน 6 มีคนสูบบุหรี่ขณะตำดินดำ พ่อของบุญตาอยู่ใกล้ ๆ และเป็นจังหวะที่กำลังก้มไปดูดินดำที่ตำในครก ควันดินดำจึงฟู่เข้าใส่ที่หน้าจนแสบร้อน มีคนตะโกนบอกให้เอาน้ำล้างหน้า แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะพ่อของบุญตาต้องรักษาแผลพุพองบนใบหน้านั้นอยู่หลายเดือน โดยความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่บ้าน ทั้งการพาไปหาหมอในเมืองและค่ารักษา แต่สุดท้ายก็ต้องเสียตาไปข้างหนึ่ง บุญตาได้รับอนุญาตให้กลับไปเยี่ยมดูพ่อ พร้อมกับรับรู้ว่าที่บ้านในเวลานั้นแล้งมากมาหลายปี พ่อปรึกษากับแม่ว่าจะต้องไปหาที่ทำมาหากินใหม่ ซึ่งก็มีหลายคนในหมู่บ้านได้ออกไปในที่ทำกินใหม่นั้นบ้างแล้ว

บุญตาเห็นสภาพพ่อแม่แล้วก็ร้องไห้ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องไปเผชิญเคราะห์กรรมอะไรอีกบ้าง