วันที่ 25 ส.ค.2565 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุม The Bangkok Climate and Energy Action Conference for Net Zero Greenhouse Gas Emission ว่า เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจ การขนส่ง และการทำงาน ปัจจุบันมีประชากรรวมทั้งสิ้นกว่า 10 ล้านคน สิ่งที่เห็นได้ชัดคือพื้นที่สีเขียวลดลง สวนทางกับปริมาณขยะและน้ำเสียที่เพิ่มมากขึ้น เกิดความต้องการทางพลังงานมาก ส่งผลต่อการผลิตก๊าซเรือนกระจกซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศอย่างเลวร้าย ด้วยเหตุยี้จึงเกิดความร่วมมือกันระหว่าง กทม.โดยสำนักสิ่งแวดล้อมกับกลุ่ม Jica ประเทศไทย เพื่อหาแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านการประชุมเสวนาเรื่อง “กรุงเทพมหานครกับการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงานเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์”

โดยได้รับความร่วมมือจากเอกอัคราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยและผู้แทนอาวุโสโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(JICA) ในการสนับสนุนและขับเคลื่อนโครงการ "กทม.ปลอดคาร์บอน BMA Net Zero" ซึ่งเป็นนโยบายและแผนแม่บทของกทม.มีเป้าหมายดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ปี 2564-2573 และมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็น 0 ภายในปี 2593 อีกทั้งเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับองค์กรอื่นในการเล็งเห็นความสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยแผนดังกล่าว กทม.จะคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทรัพย์สินทั้งหมดที่กทม.มีอยู่ ใช้มาตรการลดก๊าซเรือนกระจกโดยการผลิตพลังงานทดแทน ใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงทางพลังงาน สนับสนุนให้ใช้รถสาธารณะ เปลี่ยนจากการใช้รถยนต์เป็นการใช้รถพลังงานรถไฟฟ้า และปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่เขียวเพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจก โดยกทม.ตั้งเป้าปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นภายใน 4 ปี แต่ปัจจุบันมีผู้ร่วมสนับสนุนแล้ว 1.64 ล้านต้นภายใน 3 เดือน จึงเห็นได้ว่ามีหลายฝ่ายเห็นด้วยกับการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในกทม.

“ปัญหาภาวะโลกร้อนนับเป็นประเด็นสำคัญที่แต่ละประเทศให้ความสนใจและเป็นหนึ่งในหัวข้อหลักในการพัฒนาประเทศเพื่อมุ่งสู่สังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และเมืองคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2050 เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกรุงเทพมหานคร ได้รับการสนับสนุนจาก JICA และเมืองโยโกฮามามาอย่างต่อเนื่อง การประชุมเสวนาในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการพากทม.ไปสู่อนาคตที่ดี ที่ผ่านมา กทม.เป็นศูนย์กลางทั้งเศรษฐกิจ การขนส่ง และการทำงาน ก่อเกิดปริมาณขยะ น้ำเสีย และความต้องการในการใช้พลังงานอย่างมาก ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป สิ่งสำคัญในการประชุมเสวนาร่วมกันคือ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง และเพื่อหาแนวทางปรับตัวต่อความเสี่ยงทางภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” นายชัชชาติกล่าว