ผสมผงชูรส-วัตถุกันเสีย-พบที่ผลิตในกทม.อื้อ! ขณะภาคใต้คุณภาพดีสุด กรมวิทย์ชี้ข่าวดี หลังตรวจเข้ม-ดีขึ้น แนะวิธีผู้บริโภคเลือกซื้อให้ได้น้ำปลาดี
นพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำปลาที่จำหน่ายและผลิตในประเทศในปี 55-58 จำแนกเป็นน้ำปลาแท้ 576 ตัวอย่าง น้ำปลาผสม 545 ตัวอย่าง รวม 1,121 ตัวอย่าง จากผู้ผลิต 245 ราย 422 ยี่ห้อ พบไม่ได้มาตรฐาน 410 ตัวอย่าง ( 36.57%) โดยพบน้ำปลาแท้ไม่ได้มาตรฐาน 159 ตัวอย่าง (27.6%) ส่วนน้ำปลาผสมไม่ได้มาตรฐาน 251 ตัวอย่าง (46.06%)
สาเหตุที่ไม่ได้มาตรฐานส่วนใหญ่เนื่องจากปริมาณไนโตรเจนทั้งหมดต่ำ (56.10%) และกรด กลูตามิคต่อไนโตรเจนทั้งหมดสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์ (65.12%) มีการเติมผงชูรสแต่งกลิ่นรสอาจส่งผลต่อผู้ที่แพ้ การกำหนดอัตราส่วนกรดกลูตามิคต่อไนโตรเจนทั้งหมดจะเป็นอีกวิธีที่จะป้องกันมิให้ผู้ผลิตใช้กาก-ผงชูรสมากเกินไป ส่วนที่ไนโตรเจนทั้งหมดต่ำ อาจเนื่องจากขั้นตอนหมักหรือผสมน้ำปลาเจือจางมาก ด้านความปลอดภัย พบใช้วัตถุกันเสียชนิดกรดเบนโซอิกสูงเกินเกณฑ์ (10.9%) แต่ไม่กระทบสุขภาพผู้บริโภค เพราะปริมาณบริโภคน้อย
ทั้งนี้ ไทยเป็นแหล่งผลิตน้ำปลาที่ใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่ง ตามมาตรฐานประกาศก.สาธารณสุข ฉบับที่203 พ.ศ.2543 แบ่งน้ำปลาออกเป็น 3 ชนิด คือ น้ำปลาแท้ น้ำปลาที่ทำจากสัตว์อื่น และน้ำปลาผสม โดยกำหนดมาตรฐานปริมาณโปรตีนของน้ำปลาแท้และน้ำปลาที่ทำมาจากสัตว์อื่นให้มีปริมาณไนโตรเจนทั้งหมดไม่น้อยกว่า 9 กรัมต่อลิตร และปริมาณกลูตามิคต่อไนโตรเจนทั้งหมดต้องมีค่าระหว่าง 0.4 - 0.6 ส่วนน้ำปลาผสมกำหนดให้มีค่าไนโตรเจนทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 4 กรัมต่อลิตร ปริมาณกลูตามิคต่อไนโตรเจนทั้งหมด ต้องมีค่าระหว่าง 0.4 - 1.3 และกำหนดให้น้ำปลา มีโซเดียมคลอไรด์ไม่น้อยกว่า 200
นพ.พิเชฐกล่าวว่า ข้อมูลเฝ้าระวังคุณภาพน้ำปลาระยะแรกๆ ในปี 55 พบไม่ได้มาตรฐานจำนวนมาก ซึ่งกรมวิทย์ได้มีมาตรการติดตามเฝ้าระวังคุณภาพต่อเนื่อง ให้ผู้ผลิตควบคุมการผลิตให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบคุณภาพหลังรณรงค์ในปี 56 พบคุณภาพของน้ำปลาที่ไม่ได้มาตรฐานมีแนวโน้มลดลง และพบตัวอย่างน้ำปลาจากแหล่งผลิตในกทม.มีไม่ได้มาตรฐานมากที่สุด และภาคใต้คุณภาพดีกว่าเขตอื่นๆ อาจเนื่องจากอยู่ใกล้ทะเลจึงมีวัตถุดิบที่มีคุณภาพ
สำหรับคำแนะนำสำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อน้ำปลาคือ ให้สังเกตฉลากอาหารและต้องขึ้นทะเบียน อย. โดยระบุบนฉลาก หรือได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ระบุอยู่บนฉลาก, สะอาด มีสีน้ำตาลทอง มีกลิ่นหอมของปลา สีต้องไม่เข้มเกินไป ไม่มีตะกอน ในน้ำปลาแท้บางครั้งอาจพบผลึกใสๆ ตกอยู่ที่ ก้นขวด ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีตามธรรมชาติไม่ถือว่ามีอันตราย, ต้องมีตราสินค้าและบริษัทที่ผลิต, ระบุวันเดือนปีที่ผลิต และวันที่หมดอายุชัดเจน, สำหรับผู้ที่แพ้ผงชูรสก็อาจต้องเลือกชนิดที่ไม่เติมผงชูรส ซึ่งน่าจะมีปริมาณผงชูรสต่ำกว่า แต่ควรระลึกไว้ว่าในน้ำปลาธรรมชาติเองก็มีสารที่มีโครงสร้างเหมือนผงชูรสในปริมาณหนึ่ง
ภาพ :http://www.fisheries.go.th