ศาลรธน.มีมติเอกฉันท์รับคำร้องฝ่ายค้านตีความวาระนายกฯ 8 ปี เสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้บิ๊กตู่หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย บิ๊กป้อมผงาดนั่งนายกฯ รักษาการแทน แต่ไม่มีอำนาจแต่งตั้ง-อนุมัติงบฯ ด้าน "เพื่อไทย-ก้าวไกล" พร้อมใจแต่งชุดดำเข้าสภาไว้ทุกข์ "ประยุทธ์" เป็นนายกฯเถื่อน
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 24 ส.ค.65 เวลา 09.34 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม ซึ่งมีวาระประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม จำนวน 2 เรื่องคือ รับทราบเรื่องที่วุฒิสภาได้ลงมติให้ขยายเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ออกไปเป็นกรณีพิเศษอีก 30 วัน และรับทราบเรื่องที่วุฒิสภาได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว จากนั้นจะเป็นการพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว และเรื่องด่วน จำนวน 10 เรื่อง โดยในห้องประชุมพบว่าส.ส.ของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ส่วนใหญ่ได้แต่งกายชุดดำ เพื่อไว้อาลัยไว้ทุกข์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เนื่องจากมองว่าเป็นนายกฯเถื่อน เพราะอยู่ในวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปีแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวกดดันปมวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปี ขณะวันเดียวกันนี้ มีประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เดินทางเข้าปฏิบัติงานภายในทำเนียบรัฐบาล แต่จะสั่งการและประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จากบ้านพักภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1 ทม.รอ.)
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยคำร้องการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ นายกฯ จะส่งผลต่อการทำงานของรัฐบาลหรือไม่ว่า ต้องขึ้นอยู่กับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ สุดท้ายต้องไปจบตรงนั้น ทุกกระบวนการต้องเป็นไปตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ เราไปคาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ อาจจะถูกหรือผิดจึงไม่ขอไปคาดการณ์อะไร เพราะมันมีการคาดการณ์ที่มีความหลากหลาย แตกต่างกันในความเห็น แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ให้คำตอบทั้งหมด ทั้งคำตอบเบื้องหน้าในเรื่องการรับเรื่อง และมีคำสั่งว่าอย่างไร หรือไม่รับเรื่อง หรืออย่างไรก็สุดแล้วแต่ จนกระทั่งคำวินิจฉัยสุดท้าย
ผู้สื่อข่าวถามถึงสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้กับสถานการณ์การชุมนุม นายจุรินทร์ กล่าวว่า หากการชุมนุมในรูปแบบของการแสดงความคิดเห็นโดยสงบก็ไม่มีปัญหาอะไร เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญของคนไทยทุกคน เมื่อถามว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ได้เตรียมการอย่างไรหากมีการเปลี่ยนตัวนายกฯ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ขอตอบล่วงหน้า เพราะยังไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ ที่เกิดขึ้น การจะให้ความเห็นอะไรเบื้องต้นล่วงหน้า บางครั้งก็มีผลกระทบต่อดุลพินิจ หรือการตัดสินใจของส่วนรวมได้ แต่ประชาธิปัตย์ตอนมาอยู่ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องถือว่าเราเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นแกนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นที่มาตั้งแต่เบื้องต้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประชุม ครม. ได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับขั้นตอนเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า นายวิษณุได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าขั้นตอนกระบวนการจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นไปตามที่ท่านได้ศึกษามา จึงได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบเท่านั้น และนายกฯ ก็ขอให้ ครม. ได้ให้มุ่งมั่นทำหน้าที่เต็มที่ทุกคน
ด้าน นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวว่า ในความรู้สึกตนตอนนี้พล.อ.ประยุทธ์ถือเป็นอดีตนายกฯ ไปแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 158 (4) ก็บอกแล้วว่าห้ามเป็นนายกฯ เกิน 8 ปี และหากไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 263 จะพบว่าพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ครั้งแรกจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพราะมาตราดังกล่าวได้รองรับว่าสนช.ปฏิบัติหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร หมายความว่าพล.อ.ประยุทธ์ได้ดำรงตำแหน่งครั้งแรกจากสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 263 และมาตรา 264 รองรับว่าคนที่เป็นรัฐมนตรีก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ให้เป็นคณะรัฐมนตรี ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ดังนั้นหมายความว่าวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี จะขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 (4) ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนที่ผ่านมา
ตอนนี้พล.อ.ประยุทธ์เป็นอดีตนายกฯ ไปแล้ว จะแปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ถ้าไม่มีมาตรา 263 และมาตรา 264 ก็จะถือว่าพล.อ.ประยุทธ์เริ่มเป็นนายกฯ หลังวันที่ 9 มิ.ย.62 แต่มีมาตรา 263 และมาตรา 264 กำกับไว้ ฉะนั้นการนับวาระถือว่าจบแล้ว และปัจจุบันถือว่าครม.หลุดทั้งคณะไปแล้ว เพราะหัวหน้ารัฐบาลขาดคุณสมบัติ ซึ่งตามหลักกฎหมายคนที่จะปฏิบัติราชการต่อจากนี้ได้คือปลัดกระทรวง และให้ปลัดกระทรวงแต่ละกระทรวงประชุมร่วมกันและเลือกปลัดกระทรวงหนึ่งคนทำหน้าที่แทนนายกฯ คาดว่าผลการประชุมจะออกมาไม่เกินบ่ายโมง ผมเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องอยู่แล้ว แต่จะให้พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ก็ต้องรอดู
นายมงคลกิตติ์ กล่าวต่อว่า ตามหลักปฏิบัติหากเราไม่รอศาลรัฐธรรมนูญ ทางประธานรัฐสภามีหน้าที่ในการเรียกประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อสรรหานายกฯ คนใหม่แล้ว เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ขาดคุณสมบัติ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว เพียงแต่ว่าตอนนี้ยังไม่มีคนชี้ขาด จึงฝากประชาชนหากเจอพล.อ.ประยุทธ์ ขอให้เรียกอดีตนายกฯ เมื่อถามว่า ทำไมวันนี้จึงไม่แต่งชุดดำตามมติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า การแต่งดำคือการไปงานศพ ซึ่งนายกฯ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแต่ไม่ได้ตาย ตนจึงใส่เนคไทสีสดใสเพื่อต้อนรับนายกฯ คนใหม่ ตนไม่ชอบอยู่กับความทุกข์ ความเศร้า แม้จะมีความคิดคนละแบบแต่ก็เป็นฝ่ายค้านเหมือนกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลา 10.00 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณาคดีต่างๆ ตามกำหนดการที่สำนักงานฯ ได้บรรจุระเบียบวาระไว้ รวมทั้งพิจารณาคำร้องกรณีที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ส่งคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่เข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 เพื่อขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ว่าสิ้นสุดลงของตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสองและมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ รวมทั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งนายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าจะมีคำสั่ง เนื่องจากเห็นว่าตำแหน่งนายกฯ เป็นตำแหน่งสำคัญของการบริหารราชการแผ่นดิน
รายงานข่าวแจ้งว่า ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสำนักงานฯแจ้งสื่อมวลชนเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาว่า เรียน สื่อมวลชน ด้วยวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการแถลงข่าวหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สำหรับเวลาที่ชัดเจนจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง
ต่อมา เจ้าหน้าที่ศาลได้เดินมาแจ้งผู้สื่อข่าวที่มารอศาลรัฐธรรมนูญแถลงข่าวจำนวนมากว่าขอยกเลิกการแถลงข่าวผลการวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์โดยให้เหตุผลว่าข่าวหลุด
ล่าสุด มีรายงานว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประชุมเสร็จสิ้นแล้ว โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 รับคำร้องไว้วินิจฉัย ขณะเดียวกัน ตุลาการเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง ให้พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันนี้ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย โดยคาดว่ากระบวนการพิจารณาจะแล้วเสร็จภายในเดือน 1 เดือน
จากกรณีดังกล่าว ไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายก คนที่ 1 จะปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีแทนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี และมีมติให้พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น ส่งผลให้ พล.อ.ประวิตรจะทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกฯ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 237/2563 เรื่องมอบหมายให้รองนายกฯ รักษาราชการแทนนายกฯ และปฏิบัติราชการแทนนายกฯ ในกรณีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง
โดยในคำสั่งนายกฯ ระบุว่า ในกรณีที่นายกฯ ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกฯเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกฯ ตามลำดับ ดังนี้ 1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 2.นายวิษณุ เครืองาม 3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล 4.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 5.นายดอน ปรมัตถ์วินัย 6.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ นอกจากนี้ ในคำสั่งยังระบุว่า ในระหว่างการรักษาราชการแทนนายกฯ ผู้รักษาราชการแทนข้างต้น จะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกฯ ได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกฯ เสียก่อน
ที่สำนักงาน ป.ป.ช. นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องขอให้ ป.ป.ช.ไต่สวนและมีความเห็น กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ม.170 วรรคสาม ประกอบ ม.82 บัญญัติให้มีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในประเด็นที่เกี่ยวกับนายกฯ จะดำรงตำแหน่งครบวาระ 8 ปีเมื่อใด แต่กกต.กลับปัดตกไม่ยอมส่งให้ศาล โดยอ้างไปน้ำขุ่นๆ ว่ามีส.ส.เข้าชื่อส่งไปแล้ว
ทั้งนี้สืบเนื่องจากสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องให้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค.65 แต่กลับปล่อยให้เรื่องทิ้งร้างมานานกว่า 15 วันจึงจะนัดประชุมพิจารณาดันในวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ มายื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว หลังจากที่ส.ส.ฝ่ายค้านเข้าชื่อกัน 1 ใน 10 รายชื่อของจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่แล้วมายื่นเรื่องให้ประธานสภาฯ ส่งเรื่องต่อเมื่อวันที่ 17 ส.ค.นี้เองโดยใช้เวลาตรวจเอกสารเพียง 3-5 วันเท่านั้น
กรณีดังกล่าว หากกกต.ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนสำนักงานสภาฯ คำร้องของสมาคมฯน่าจะถึงศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ส.ค.ไปแล้ว ซึ่งจะมีระยะเวลาให้ศาลรัฐธรรมนูญเตรียมการจัดทำคำสั่งหรือคำวินิจฉัยได้เร็วขึ้น และอาจไม่จำเป็นต้องมีม็อบจัดตั้งเกิดขึ้นมากมายกว่า 15 กลุ่มสร้างความเดือดร้อนรำคาญของประชาชนและผิดกฎหมายเยี่ยงนี้ เพราะเราอาจจะรู้คำตอบแล้วก็ได้ว่านายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งครบวาระ 8 ปีเมื่อใด และจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ด้วย แต่เป็นเพราะ กกต.ทำงานเยี่ยงนี้ เราจึงเห็นปรากฏการณ์ความวุ่นวายของบ้านเมืองเช่นนี้
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงไม่อาจปล่อยให้องค์กรเหล่านี้ลอยตัวอยู่เหนือกฎหมายไปได้ จึงได้นำความพร้อมพยานหลักฐานมาร้องให้ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการไต่สวนตามอำนาจหน้าที่ว่า พฤติการณ์ของ กกต.ทั้ง 7 นายดังกล่าว เข้าข่ายจงใจที่จะปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่หรือกระทําการอันเป็นความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการหรือ ความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญาหรือตามกฎหมายอื่นหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ด้วย หากพบว่าเป็นการละเว้นฯหรือฝ่าฝืนให้ดำเนินการเอาผิดขั้นสูงสุด เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป
ด้าน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กล่าวว่า ตนทำเรื่องส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตรวจสอบกระบวนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ66 ในชั้นกรรมาธิการฯ ว่ามีการกระทำที่ขัดหรือแข้งต่อข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อที่ 99 วรรคสอง, ข้อ 100 และข้อ 101 หรือไม่ ต่อประเด็นที่พบว่าในชั้นการเสนอคำแปรญัตตินั้น ส.ส.จำนวน 175 คนทำไม่ถูกต้องในประเด็นการมอบหมายให้บุคคลเสนอคำแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการฯ แทน ทั้งน