ประธานบอร์ดสภาพัฒน์ ลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี ชื่นชมโครงการ U2T for BCG ของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ นำความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยมาใช้ประโยชน์กับชุมชนได้จริง สามารถสร้างงานสร้างรายได้ ที่สำคัญ มีการจัดทำฐานข้อมูลชุมชน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ 

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการติดตามโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการ U2T for BCG ที่ จ.ปัตตานี โดยมีนางสุวรรณี คำมั่น ที่ปรึกษา รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัด อว. น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ กรรมการบริหารโครงการ U2T for BCG และผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี ร่วมลงพื้นที่ด้วย

โดย รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดี มอ.วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการ U2T for BCG ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ว่า มอ.วิทยาเขตปัตตานีรับผิดชอบดูแลพื้นที่ U2T for BCG ในปัตตานี ร่วมกับ 6 สถาบันการศึกษา จำนวน 115 ตำบล มีการรับสมัครบัณฑิตจบใหม่และประชาชนในพื้นที่เป็นทีมทำงานมนตำบล จำนวน 1,098 คน ให้ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์/บริการด้าน BCG ให้ได้อย่างน้อย 230 ผลิตภัณฑ์/บริการ  ด้วยการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของ อว.มาถ่ายทอดให้กับชุมชน ขณะที่ ยังมีการลงพื้นที่จัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชนหรือ Thailand community Data (TCD) เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันการเก็บข้อมูลมีความคืบหน้าไปกว่า 98% แล้ว และเมื่อเก็บครบสมบูรณ์ทุกพื้นที่จะนำไปวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อนำไปขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาจังหวัดอย่างมุ่งเป้าต่อไป

ด้านนางสุวรรณี กล่าวว่า โครงการเด่นของ U2T for BCG ในพื้นที่ปัตตานี คือ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสุนทรียะภูมิทัศน์ชุมชน เพื่อส่งเสริมอาชีพและกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวถนนสายวัฒนธรรม ต.อาเนาะรู โดยนำองค์ความรู้ในศาสตร์ด้านศิลปกรรมมาบูรณาการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีความภูมิใจและหวงแหนในประเพณี ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนสถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือนที่อาศัยอยู่ ซึ่งมีทั้งการพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชน การสร้างผลงานศิลปะเพื่อปรับภูมิทัศน์และเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้เชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งสะท้อนถึงผลิตภัณฑ์/บริการด้าน BCG เช่น การนำขยะในทะเลมาทำเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและมูลค่าสูง รวมถึงจัดตลาดชุมชน เพื่อส่งเสริมอาชีพและกระตุ้นการท่องเที่ยวบนถนนสายวัฒนธรรมแห่งนี้

ด้าน ศ.ดร.สนิท กล่าวว่า ขอชื่นชมโครงการ U2T for BCG ของ อว. เพราะเป็นโครงการที่เอาคนจริงๆ เอาความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยมาใช้ประโยชน์กับชุมชนได้จริง เชื่อมโยงกับข้อมูลฐานทรัพยากรในชุมชน จนสามารถสร้างงานสร้างรายได้ ผสมกลมกลืนกับคนและสัมมาอาชีพในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญการจัดทำฐานข้อมูลชุมชนถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้นโยบายไว้ว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องใช้ต่อการพัฒนาประเทศมาก โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ตนเชื่อว่าถ้า อว. ทำดีและมีมหาวิทยาลัยเป็นกองหนุนให้พื้นที่และชุมชน โครงการนี้จะมีความยั่งยืนแน่นอน