วันที่ 23 ส.ค.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 451,561 คน ตายเพิ่ม 1,205 คน รวมแล้วติดไป 601,329,157 คน เสียชีวิตรวม 6,473,267 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.33 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 72.86

...สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

...อัพเดตความรู้เกี่ยวกับระยะฟักตัวของโรคโควิด-19

Wu Y และคณะ จากประเทศจีน ได้ทำการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบ และวิเคราะห์อภิมาน เกี่ยวกับระยะฟักตัวเฉลี่ยของโรคโควิด-19 โดยจำแนกตามสายพันธุ์ต่างๆ ที่ผ่านมา

เผยแพร่ในวารสารการแพทย์สากล JAMA Network Open เมื่อวานนี้ 22 สิงหาคม 2565

สาระสำคัญคือ

หนึ่ง สายพันธุ์ของไวรัสโรคโควิด-19 มีระยะฟักตัวเฉลี่ย (แปลว่า "ระยะเวลาตั้งแต่มีการติดเชื้อจนเริ่มมีอาการ') สั้นลงอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่สายพันธุ์อัลฟ่า เริ่มติดเชื้อจนมีอาการ ใช้เวลาราว 5 วัน (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 4.94-5.06 วัน)

สายพันธุ์เบต้า ใช้เวลา 4.5 วัน (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 1.83-7.17 วัน)

สายพันธุ์เดลต้า (ที่ระบาดหนักปีที่แล้ว) ใช้เวลา 4.41 วัน (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 3.76-5.05 วัน)

และล่าสุดสายพันธุ์ Omicron ที่ระบาดปีนี้ ใช้เวลาสั้นลงเหลือ 3.42 วัน (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 2.88-3.96 วัน)

การวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า สายพันธุ์อัลฟ่ากับเบต้านั้นมีระยะฟักตัวพอๆ กับสายพันธุ์ดั้งเดิมที่เริ่มระบาดที่อู่ฮั่น (ราว 5.2 วัน)

แต่หลังจากนั้น สายพันธุ์ที่ระบาดในช่วงหลัง ตั้งแต่กลางปีที่แล้วเป็นต้นมาคือ เดลต้าและ Omicron มีระยะฟักตัวที่สั้นลงกว่าเดิมอย่างชัดเจน

ภาพรวมของการระบาดทั้งหมดที่ผ่านมา ระยะฟักตัวเฉลี่ยของทุกสายพันธุ์ที่ศึกษาอยู่ที่ 6.65 วัน (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 6.31-6.99 วัน) โดยสั้นสุดที่ 1.8 วัน และยาวนานสุดที่ 18.87 วัน

ทั้งนี้หากลองจำแนกตามความรุนแรงของโรค จะพบว่า คนที่ติดเชื้อแล้วป่วยรุนแรงนั้นมีแนวโน้มที่จะมีระยะฟักตัวสั้นกว่าคนที่ติดเชื้อแล้วอาการน้อย

ในขณะที่เด็ก (8.82 วัน ช่วงความเชื่อมั่น 8.19-9.45 วัน) และคนสูงอายุ (7.43 วัน ช่วงความเชื่อมั่น 5.75-9.11 วัน) จะมีระยะฟักตัวนานกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรทั้งหมด

ประโยชน์ของงานวิจัยนี้ ช่วยให้เราทราบธรรมชาติของโรค และคอยสังเกตอาการผิดปกติหลังจากมีประวัติไปคลุกคลีสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ หรือหลังจากที่มีความเสี่ยง

...ในสถานการณ์ระบาดที่ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง การใช้ชีวิตประจำวันจำเป็นต้องมีความตระหนักและใส่ใจต่อสุขภาพของตนเองและสมาชิกในครอบครัว

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงไปได้มาก

อ้างอิง

Wu Y et al. Incubation Period of COVID-19 Caused by Unique SARS-CoV-2 StrainsA Systematic Review and Meta-analysis. JAMA Network Open. 22 August 2022.