ชี้ Active Learning มีความสำคัญฝึกกระบวนการความคิดรวบยอด นายเกษม สุริยกัณฑ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) เพื่อร่วมกันพัฒนาทางวิชาการแก่นิสิต และครูผู้สอนในโรงเรียนเครือข่าย และสนับสนุนการทำงานวิจัย ของคณาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เพื่อเสริมสมรรถนะความเป็นครูให้แก่นิสิต เช่น การสอนภาษาอังกฤษ การวิจัย และการพัฒนาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 15 แห่ง ในจังหวัดสงขลา ตรัง และสตูล ซึ่งมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ลงไปช่วยพัฒนาและอบรมครูทุกสาขาวิชา และการที่มหาวิทยาลัยเลือก พว. มาร่วมพัฒนานิสิต เพราะ พว.มีเครือข่ายผู้ทรงคุณวุฒิทุกสาขาวิชาที่ครอบคลุมซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การผลิตบัณฑิตครูมีคุณภาพมากขึ้น ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหาร พว.กล่าวว่า ปัจจุบันเราอยู่ในศตวรรษที่ 21 และประเทศไทย กำลังเดินหน้าสู่ยุทธศาสตร์ 4.0 เป็นยุคของการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งการจะไปสู่เป้าหมายได้การจัดการเรียนการสอนต้องใช้การสอนด้วยกระบวนการ หรือ Active Learning ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้ ด้วยการฝึกให้เด็กได้ปฏิบัติ และสรุปเป็นชุดความรู้ด้วยตัวเอง แต่ปัญหาใหญ่ คือ คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ปกครอง ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องของการเรียนด้วยกระบวนการ แต่ก็น่ายินดีว่าวันนี้โรงเรียนจำนวนไม่น้อยที่เริ่มมีความเข้าใจและปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นการสอนแบบกระบวนการมากขึ้นแล้ว "ขณะนี้หลายหน่วยงานมีความตื่นตัวในการสอนแบบ Active Learning เพราะสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และสามารถแก้ปัญหาผลการทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับชาติ (O-NET) และการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) ได้ด้วย เพราะการเรียนทุกอย่างจะผ่านกระบวนการทั้งหมด แต่หากการเรียนการสอนไม่มีกระบวนการก็จะไม่เกิดความรู้อะไรขึ้นเลย ซึ่งเรื่องนี้ พว.ได้ทำการวิจัยมาร่วม 30 ปีแล้ว" ดร.ศักดิ์สิน กล่าว