บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) (CENTEL) พลิกทำกำไร 22 ล้านบาทในไตรมาส 2/2565 รับอานิสงส์เปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 กระตุ้นยอดขายและกำไรเติบโตกว่าไตรมาสก่อนและปีก่อน
ทั้งนี้ นายกันย์ ศรีสมพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา กล่าวถึงผลประกอบการในไตรมาส 2 ปี 2564 ว่า บริษัทฯมีรายได้รวม 4,340 ล้านบาท (ไตรมาส 2/2564: 2,690 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1,650 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 61% โดยสัดส่วนของรายได้จากธุรกิจโรงแรมต่อรายได้จากธุรกิจอาหาร อยู่ที่ 33%: 67% (ไตรมาส 2/2564 คือ 12% : 88%)
โดยรายได้เพิ่มขึ้นทั้งจากธุรกิจอาหารและธุรกิจโรงแรมได้รับปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตราการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 บริษัทฯมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) รวม 992 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 690 ล้านบาท หรือ 228% จากไตรมาส 2/2564 คิดเป็นอัตรากำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ ต่อรายได้รวม (% EBITDA) 23% เพิ่มขึ้นเทียบกับปีก่อน (ไตรมาส 2/2564 ประมาณ 11%) บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 22 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 607 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 104%
สำหรับธุรกิจโรงแรม ด้วยโรงแรมในประเทศไทยมีผลดำเนินงานฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวและการจัดประชุมสัมมนาอย่างมีนัยสำคัญ โดยรับปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการต่างๆในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะที่มัลดีฟส์เข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว แต่ยังคงเติบโตอย่างมีนัยสำคัญเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ภาพรวมรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมทั้งหมด (RevPar) เพิ่มขึ้น 474% อยู่ที่ 2,188 บาท จากการเพิ่มของอัตราการเข้าพักเฉลี่ยจาก 12% ในไตรมาส 2/2564 เป็น 49% ในไตรมาส 2/2565 ขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) เพิ่ม 39% เทียบปีก่อน เป็น 4,472 บาท
ส่วน ธุรกิจอาหาร มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีการลดลงเป็นลำดับ และการผ่อนคลายมาตรการต่างๆของภาครัฐทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจและมีการกลับมารับประทานอาหารที่ร้านมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้บริษัทฯ มีการเติบโตของยอดขายของสาขาเดิม (%SSS) 19% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการเติบโตมาจากฐานต่ำเนื่องจากไตรมาส 2/2564 เป็นช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19ในระลอกที่ 3 กอปรกับการขยายสาขาเพิ่มขึ้นทำให้ภาพรวมอัตราการเติบโตจากยอดขายรวม (%TSS) อยู่ที่ 25% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
แม้ว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 จะลดน้อยลง อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยลบต่อการดำเนินงานในอนาคต เช่น ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก, ค่าโดยสารเครื่องบินที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และจากสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
ดังนั้นบริษัทฯ ได้วางแผนในการจ่ายคืนเงินต้นสำหรับเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อลดผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ปัจจุบัน บริษัทดำรงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น 0.8 เท่า ดีขึ้นเทียบสิ้นปีที่ผ่านมา (ปี 2564: 0.9 เท่า) จากการลดลงของหนี้สิ้นที่มีภาระดอกเบี้ยและการเพิ่มขึ้นของส่วนผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเงื่อนไขกับสถาบันการเงินเกี่ยวกับการรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น อยู่ที่ 2.0 เท่า
ขณะที่ ปี 2565 บริษัทประมาณการ ธุรกิจโรงแรมมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งปี 2565 (รวมโรงแรมที่ดูไบ) อยู่ในช่วง 45% - 50% และรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPar) อยู่ที่ 1,900 – 2,200 บาท และสำหรับธุรกิจอาหาร บริษัทฯ ประมาณการอัตราการเติบโตจากสาขาเดิม (Same-Store-Sales: SSS) 10% ถึง 15% เทียบปีก่อน และอัตราการเติบโตของยอดขายรวมทุกสาขา (Total-System-Sales: TSS) จะอยู่ในช่วง 20% ถึง 25% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา สำหรับการเติบโตของจำนวนสาขา บริษัทฯ คาดว่าจะมีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นสุทธิ 200-250 สาขา (รวมสาขา shop-in-shop อาริกาโตะในมิสเตอร์โดนัท) เทียบกับปี 2564