วันที่ 19 ส.ค.65 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,110 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,110 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,028 ราย อยู่ระหว่างรักษา 20,048 ราย อาการหนัก 853 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 436 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 27 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,630,310 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,578,291 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 31,971 ราย
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 7-13 ส.ค. มีผู้ที่มีผลตรวจเอทีเคเป็นบวกแล้วเข้ารับบริการเจอ แจก จบ OPSI จำนวน 218,042 ราย เฉลี่ยวันละ 31,148 ราย ซึ่งตั้งแต่เดือน มี.ค.-13 ส.ค. มีจำนวนผู้รับบริการแบบเจอ แจก จบ 7,088,138 ราย ขณะที่อัตราการครองเตียงปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 14.8% ถือว่าไม่เกินศักยภาพของการดูแล ส่วนเรื่องยารักษาโควิด-19 ทั้งฟาวิพิราเวียร์ โมนูลพิราเวียร์ ยังมีเพียงพอ แต่อย่างไรก็ตาม ในเดือน ก.ย. จะเพิ่มระบบสนับสนุนยา โดยให้หน่วยบริการนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขสามารถจัดซื้อยาได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. รวมถึงร้านยาสามารถจ่ายยาให้ผู้ป่วยได้ตามใบสั่งแพทย์ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.เช่นกัน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือถึงความคืบหน้าในการจัดทำกรอบนโยบายแนวทางปฏิบัติและห้วงเวลาในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะ Post-Pandemic หรือระยะหลังการระบาดใหญ่ โดยหารือด้านการป้องกันว่าขณะนี้สถานการณ์ทั่วโลกยังมีการเพิ่มผู้ติดเชื้อ แต่จำนวนอาการรุนแรงและเสียชีวิตไม่สูง ภาพรวมประชาชนในประเทศไทยมากกว่าร้อยละ 90 มีภูมิคุ้มกัน ผู้ฉีดวัคซีน3 เข็มไม่ว่าสูตรใดสามารถป้องกันการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้มากกว่าร้อยละ 90 หลังจากนี้ลักษณะการเกิดโควิด-19 จะคล้ายคลึงกับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะพบผู้ป่วยตลอดทั้งปี
ด้านการรักษาอาการผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง ยกเว้นในกลุ่มเสี่ยง การใช้ยาและการรักษาที่โรงพยาบาลควรใช้เฉพาะกลุ่มผู้มีอาการ สำหรับการแยกกักตัวจะใช้เวลา 10 วัน คือ แยกกักตัว 5 วัน และอีก 5 วัน ให้ปฏิบัติตนแบบ DMH อย่างเคร่งครัด โดยกรอบระยะเวลานั้น ในเดือน ก.ย. จะให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง จากนั้นตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค. จะปรับให้โรคระบาดเฉพาะพื้นที่
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไป บทบาทของ ศบค.จะลดลง โดยจะใช้กลไกของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (อีโอซี) กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. จะเข้ามาดำเนินการในส่วนนี้ แต่ในที่ประชุมยังไม่ได้มีการพูดถึงการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะประเมินสถานการณ์กันต่อไป เนื่องจากยังเหลือระยะเวลาการประกาศใช้จนถึงสิ้นเดือน ก.ย. ที่ประชุมจะรอดูสถานการณ์ต่อไป
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในปัจจุบันยังมีข่าวดีเกี่ยวกับความก้าวหน้าการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศ โดยวัคซีนที่พัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และขององค์การเภสัชกรรม มีความก้าวหน้าและเตรียมขึ้นทะเบียนในปี 66 และ 67 ตามลำดับ อาทิ Chula-Cov19, BaiyaSARS-Cov-2VaX, NDV-HP-F ขณะที่การฉีดวัคซีนในประเทศไทย มีการฉีดไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 142 ล้านโดส มีอาการไม่พึงประสงค์ เสียชีวิตเพียง 6 คน ถือว่าน้อยมาก และถ้าดูยอดผู้เสียชีวิตในกลุ่ม 608 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค.65 มีทั้งสิ้น 9,373 ราย ในจำนวนนี้มีถึง 5,260 ราย ที่ไม่ได้รับวัคซีน จึงอยากเชิญชวนประชาชนให้ไปฉีดวัคซีน เข็มกระตุ้น เพราะข้อมูลยืนยันแล้วว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตต่ำ และขณะนี้ในประเทศไทยมีวัคซีนคงคลังรวมแล้ว 8 ล้านโดส จึงถือว่ามีความเพียงพอในการฉีดให้กับประชาชน