สำหรับบมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บจ. ไทยแอร์เอเชีย (TAA) ได้เผยถึงผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 2565 มีรายได้รวม 2,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 157 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีปริมาณที่นั่งกลับมากว่าร้อยละ 33 ของช่วงก่อนโควิด-19 จากทั้งการเติบโตในตลาดภายในประเทศ เเละเส้นทางระหว่างประเทศที่เริ่มกลับมาให้บริการเพิ่มขึ้น โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งตลาดอินเดีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ อย่างไรตาม ราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนหลักของสายการบินเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากอุปสงค์การใช้น้ำมันที่เร่งตัวสูงกว่าอุปทานในตลาดโลกที่ตึงตัว ค่าบำรุงรักษาเครื่องบิน และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ AAV มีผลขาดทุน 4,724 ล้านบาท ในไตรมาสนี้
เน้นตลาดต่างประเทศมากขึ้น
ในเรื่องนี้ นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ตลอดไตรมาสที่ 2 ปี 2565 TAA ขนส่งผู้โดยสารรวม 1.68 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 133 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 75 เพิ่มขึ้น 14 จุด อีกทั้ง ราคาค่าโดยสารเฉลี่ยขยายตัวร้อยละ 17 มาอยู่ที่ 1,317 บาท จากความต้องการท่องเที่ยวที่คงค้างมาตั้งแต่ปีก่อนและการค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงในเที่ยวบินระหว่างประเทศ ในขณะที่รายได้บริการเสริมต่อผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 มาอยู่ที่ 285 บาท หนุนจากค่าบริการฝากสัมภาระใต้ท้องเครื่องและค่าธรรมเนียมการชำระเงินที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราความตรงต่อเวลาอยู่ที่ร้อยละ 96 โดยมีจำนวนเครื่องบินปฏิบัติการเฉลี่ยอยู่ที่ 24 ลำ ณ สิ้นสุดไตรมาส เพิ่มขึ้นจาก 15 ลำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยอัตราการใช้งานเครื่องบินที่ 8.0 ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 6.1 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องบินที่เหลือมีเเผนสำหรับการรองรับปริมาณผู้โดยสารในครึ่งปีหลังต่อไป
ส่วนภาพรวมครึ่งปีเเรกของปี 2565 AAV มีรายได้รวม 4,628 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 90 และมีผลขาดทุน 7,094 ล้านบาท จากปัจจัยด้านราคาน้ำมัน ค่าบำรุงรักษาเครื่องบิน และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง โดยขนส่งผู้โดยสารรวม 3.14 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 84 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้อัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 74
ด้วยสถานการณ์หลังโควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย และประเทศต่างๆ เริ่มเปิดประเทศเต็มที่ ซึ่งล่าสุดทางการอนุญาตให้สายการบินให้บริการอาหารและเครื่องดื่มในเที่ยวบินภายในประเทศแล้ว ถือเป็นสัญญาณที่ดีและเป็นโอกาสของ TAA ในการกลับมาสร้างรายได้ โดยเฉพาะตลาดระหว่างประเทศที่จะเน้นมากขึ้น ซึ่งสิ้นสุด ณ ไตรมาสนี้ TAA กลับมาให้บริการแล้ว 19 เส้นทาง สู่ 8 ประเทศ คือ อินเดีย มัลดีฟส์ กัมพูชา เวียดนาม ลาว สิงคโปร์ มาเลเชีย และอินโดนีเซีย โดยในครึ่งปีหลัง TAA ตั้งเป้าหมายในการเปิดบินสู่ประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งเเรก ที่เมืองฟุกุโอกะ รวมทั้งประเทศเนปาลเเละบังคลาเทศ ถือเป็นการเปิดตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ
มีสภาพคล่องทางธุรกิจเพียงพอ
ในปัจจุบันบริษัทยังคงได้รับการสนับสนุนจากตลาดการเงินต่อเนื่อง ทำให้บริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจซึ่งกำลังกลับมาเติบโตอีกครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่น รากฐานและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งความร่วมมือจากพนักงาน Allstars ทุกคน ซึ่งต่อจากนี้เราวางกลยุทธ์ในการเเสวงหาทุกโอกาสเพื่อเพิ่มกระเเสเงินสดระยะสั้น ควบคู่กับแผนการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว สำหรับช่วงที่เหลือของปีนี้ เราคาดว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมจะดีต่อเนื่อง และ AAV น่าจะมีผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังที่ดีที่สุดในรอบ 3 ปี
อีกทั้ง นายสันติสุข กล่าวว่า ในครึ่งปีหลัง TAA พร้อมกลับมาทำเเคมเปญการตลาดเชิงรุกเต็มที่ ทั้งการตอกย้ำคุณภาพของแบรนด์ที่สร้างความเเตกต่างจากคู่เเข่ง ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยเเละความตรงต่อเวลา ผ่านเเคมเปญ ขอใส่ใจให้หายคิดถึง การสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจจากสินค้าบริการที่หลากหลายของ airasia Super App การทำเเคมเปญต่อเนื่องร่วมกับภาครัฐเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศกับโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ส่วนขยาย
รวมทั้งการจัดโปรโมชั่นอย่างเข้มข้นตลอดครึ่งปีหลัง โดยเน้นในตลาดเส้นทางระหว่างประเทศที่คาดว่าจะสามารถสร้างผลกำไรได้ดีต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ทั้งนี้ตลอดปี 2565 บริษัทตั้งเป้าผู้โดยสารอยู่ที่ 10 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าจากปีก่อนที่ขนส่งผู้โดยสาร 2.93 ล้านคน พร้อมทั้งตอกย้ำความเป็นผู้นำสายการบินราคาประหยัดสำหรับคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยมีความพร้อมให้บริการด้วยเครื่องบินปฏิบัติการจำนวน 43 ลำ จากฝูงบินทั้งหมดจำนวน 53 ลำ ในช่วงปลายปี 2565 นี้