ร่วมสมัย / ชะมวง พฤกษาถิ่น : ไปดูกันว่าผลงานดีไซเนอร์ผ้าไทยร่วมสมัยใส่สบายที่ไม่ธรรมดาเป็นอย่างไรกัน
เป็นเวทีการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมสมัย “ไทยใส่สบาย” ประจำปี 2565 ที่ทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ให้โจทย์ในการนำผ้าไทยมาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงานออกแบบให้เป็นเครื่องแต่งกายให้มีความร่วมสมัย เพื่อให้เห็นว่าผ้าไทยสามารถนำมาตัดเย็บให้สวยงาม ใส่ได้ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น วัยทำงาน และบุคคลทั่วไปก็สวมใส่ได้อย่างสบาย ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากดีไซเนอร์ทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวนมากถึง 88 ผลงาน ผ่านสายตากรรมการคัดเลือกซึ่งเป็นดีไซเนอร์มืออาชีพระดับแถวหน้าของเมืองไทย จนเหลือผลงานที่มีความโดดเด่นจำนวน 12 ผลงานในรอบสุดท้าย แล้วประกาศผลการพิจารณาผู้ได้รับรางวัล 5 ราย ไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งแต่ละผลงานของดีไซเนอร์ไม่ธรรมดา
มาดูผลงานรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายนรบดี ศรีหะจันทร์ ภายใต้แนวคิด “RE อีสาน” ได้นำปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะเสื้อผ้ามาเป็นแฟชั่นหมุนเวียน สร้างสรรค์ด้วยการ Upcycling โดยการรับซื้อและนำผ้าไหมมือสองและเศษผ้าไหมที่เหลือจากการตัดเย็บจากชาวบ้านในท้องถิ่น จ.สุรินทร์ มาทำคอลเลคชั่นรี-อีสาน เพื่อประโยชน์ทั้งในด้านความยั่งยืน การลดจำนวนขยะที่เกิดจากเสื้อผ้าสิ่งทอ ราคาที่ประหยัดและเข้าถึงได้ ผ่านการออกแบบจากความคิดสร้างสรรค์และมีความเป็นเอกลักษณ์
รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายไอสยา โอวาท ภายใต้แนวคิด “มานะ มานี ปิติ ชูใจ” ผลงานการออกแบบจากแบบเรียนวิชาภาษาไทยที่อยู่ในความทรงจำจวบจนทุกวันนี้ โดยนำความเป็นไทยในยุคของต้นกำเนิดมาถ่ายทอดเรื่องราวผ่านผ้าไหมแต้มหมี่ จ.ขอนแก่น บ้านหัวฝาก ด้วยเทคนิคการเลเซอร์คัทตัวอักษรเนื้อหาการเรียนการสอน เป็นบทความ บทที่เรียนต่างๆ มาเรียงเป็นลายผ้า ชูลายเส้นตัวอักษรไทย พร้อมทั้งออกแบบโครงร่างเสื้อผ้าจากตัวละครมานะ มานี ปีติ ชูใจ มาดัดแปลงให้มีความทันสมัยแต่ไม่ทิ้งทรวดทรงการแต่งกายเหมือนตัวละครในหนังสือเรียน ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นายรัฐพล ทองดี โดยนำที่มาของผ้าจากผู้ประกอบการ เก๋บาติก มาออกแบบภายใต้แนวคิด “ความสวยงามของคนตาบอด” จากความทรงจำหรือจินตนาการที่แปลงเป็นภาพในความคิดได้ต่างๆ
รางวัลชมเชย ได้แก่ นายฬียฑา ชลิตณัฐกุล นำผ้าบาติกของภาคเหนือและภาคใต้จากกลุ่มผู้ประกอบการเก๋ บาติก และ AKARA BATIK มาผสมผสาน ด้วยเทคนิคฟรีแฮนด์ ภายใต้แนวคิด “AFTER LIFE ความเชื่อหลังความตาย” และ นายธนกานต์ พันธุ์สุข นำผ้าฝ้ายและผ้าใยกัญชงทอมือของผู้ประกอบการใน จ.ลำปาง มาสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิด “ฮักหนา ก๋าไก่” ทุกกระบวนการคือการกลั่นกรอง คัดสรร ความงดงามของผ้าไทยที่ผสมผสานกับฝีมือนักออกแบบเครื่องแต่งกายรุ่นใหม่ อันจะนำไปสู่ก้าวสำคัญของการเดินทางของผ้าไทย ที่จะถ่ายทอดความงดงามและความยิ่งใหญ่ของ มรดกไทย สู่สายตาชาวโลก
สำหรับผลงานการออกแบบทั้งหมด ทางสศร.จะนำมาจัดแสดงทาง www.ocac.go.th และช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ รวมถึงจัดแสดงนิทรรศการที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ซึ่งผลงานทุกชิ้นล้วนผ่านกระบวนการกลั่นกรอง คัดสรรความงดงามของผ้าไทยที่ผสมผสานกับฝีมือของนักออกแบบเครื่องแต่งกายรุ่นใหม่ นำไปสู่ก้าวสำคัญการเดินทางของผ้าไทยบนเวทีโลกในอนาคต