สภาโหวตผ่าน"งบกลาโหม" 8.4 หมื่นล้าน "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" ตีตกคำร้อง "ศรีสุวรรณ" สอบปม "นายกฯ 8 ปี" ชี้ไม่อยู่ในอำนาจ "อนุชา"ชี้ปม 8 ปีนายกฯจบที่ศาล รธน. เชื่อไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองทำบิ๊กตู่พ้นตำแหน่ง เปิดแคนดิเดตชิง โฆษกรบ. สกลธี-อนุชา-วรัชญ์-เสกสกล
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 18 ส.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ในวาระ 2 และวาระ 3 ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พิจารณาเสร็จแล้ว เป็นวันที่สอง โดยมี นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งจะมีการพิจารณาลงมติมาตรา 8 งบประมาณกระทรวงกลาโหม วงเงิน 84,387,885,200 บาท ภายหลังจากที่สมาชิกสภาฯได้อภิปรายครบถ้วนแล้ว ซึ่งล่าช้าไป 30 นาทีจากที่นัดหมายประชุมเวลา 09.30 น.
ทั้งนี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ลุกขึ้นหารือว่า ก่อนปิดการประชุมเมื่อคืน ทางฝ่ายค้านไม่ได้ติดใจ แต่วันนี้ทำให้เราเสียเวลารอองค์ประชุมไป 30 นาที ซึ่งกระบวนการในการพิจารณางบฯใช้เวลามาก และมีผู้แปรญัตติจำนวนมาก เราไม่สามารถไปปิดกั้นเอกสิทธิ์ของสมาชิกในการสงวนความเห็นและสงวนคำแปรญัตติได้ คงต้องร่วมมือกันพิจารณาให้จบสิ้น แต่ถ้าเป็นลักษณะนี้ตนเกรงว่า วันที่ 19 สิงหาคม อาจจจะพิจารณาไม่จบได้ เพราะเมื่อวาน (17 สิงหาคม) การพิจารณาเดินหน้าได้ช้ามาก หากมีความจำเป็นต้องประชุมเลยช่วงวันที่ 19 สิงหาคม อาจจะต้องร่วมมือกันทำงานในวันหยุด หรือจะเป็นวันที่ 22 สิงหาคมก็ได้
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ขอให้ประธานเปิดโอกาสให้มีการซักถามเพิ่มเติมในมาตรา 8 ซึ่งไม่ใช่การอภิปรายเพิ่มเติม แต่เป็นคำถามเชิงกฎหมาย เรื่องกระบวนการแปรญัตติ และการคืนงบประมาณให้กองทัพอากาศ ที่ตนเป็นห่วงว่ากระบวนการตรากฎหมายที่ผ่านชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ถูกต้องตามขั้นตอนและกฎหมายหรือไม่ เพราะกองทัพอากาศของบคืน 5% ที่ต่ำกว่าที่มติครม.กำหนดไว้ว่าต้อง 10% เป็นอย่างต่ำ ถือเป็นการผลักภาระให้รัฐบาลถัดไปตั้งงบประมาณมาซื้อเครื่องบินรบของท่านหรือไม่ เอาอำนาจอะไรในการอนุมัติเงินงบ 5% และไปหวังว่ามติครม.ให้ 5% ตามที่ท่านขอ เพราะขั้นตอนผิดฝาผิดตัว หากสภาฯลงมติให้ความเห็นชอบให้ปรับลด 5% แล้วหวังครม.ออกมติครม.ย้อนหลัง หากผิดพลาดขึ้นมามีคนไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 148 ร่างกฎหมายจะตกทั้งฉบับ
ขณะที่ นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรค พท.อภิปรายว่า การที่เราอนุมัติงบฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 144 หากผู้อนุมัติมีส่วนได้ส่วนเสียจะมีความผิด การที่แปรญัตติให้กองทัพอากาศนั้น ถามว่าผบ.เหล่าทัพ ซึ่งก็เป็นนักการเมืองด้วย เพราะต้องพิจารณาในขั้นตอนวุฒิสภา ประเด็นข้อกฎหมายนั้นเป็นอย่างไร ตนกลัวว่า กมธ.ชุดนี้จะฟ้องกันเอง เพราะท่านเป็นนักร้องอยู่แล้ว และท่านก็บอกว่าอันนี้ไม่มันชอบในขั้นกมธ.ฯ จึงขอให้ผู้มีความรู้เป็นนักกฎหมายแม่นๆตอบว่าแบบนี้กฎหมายจะสามารถใช้ได้หรือไม่ได้
ส่วน นายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรค พท. อภิปรายว่า ตนมีความเป็นห่วงว่างบประมาณผ่านสภาฯแห่งนี้แล้ว แต่มีปัญหาเรื่องอำนาจ หน้าที่ สิทธิ ที่ฝ่ายค้านยื่นต่อประธานสภาฯ เพื่อสอบถามวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกฯ ตนเกรงว่า หลังวันที่ 24 สิงหาคมไปแล้วมีปัญหาว่านายกฯไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจ แล้วงบประมาณนี้จะใช้กันอย่างไร ตนเป็นห่วงเรื่องผู้ที่โหวตผ่านจะมีความผิดด้วยหรือไม่ เพราะรู้กันอยู่ว่านายกฯมีปัญหาเรื่องอายุ อำนาจ และการอนุมัติงบประมาณที่จะใช้ต่อไป เพราะ 8 ปีของนายกฯจะครบวันที่ 24 สิงหาคมนี้
ด้าน นายศุภชัย ชี้แจงว่า เมื่อคืนนี้วันที่ 17 สิงหาคม มีการปิดอภิปรายมาตรานี้ไปแล้ว และกมธ.ได้ชี้แจงไปแล้ว แต่เมื่อมีประเด็นซักถามเพิ่มเติมก็สามารถใช้สิทธิ์ซักถามได้ เพียงแต่เอาประเด็นที่ข้องใจจริงๆ ถ้าถามตั้งแต่การอภิปรายแล้วไม่ต้องถามอีกก็ได้ อีกทั้งเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี เราไม่ใช่ศาลตัดสิน
ขณะที่ นายวราเทพ รัตนากร ในฐานะรองประธานกมธ.ฯ ชี้แจงการปรับลดงบประมาณในส่วนกระทรวงกลาโหมที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35A ว่า การปรับลดงบประมาณต่ำกว่ามติครม.ที่กำหนดไว้ในการก่อหนี้ผูกพันนั้น ข้อเท็จจริงในชั้นอนุกรรมาธิการได้รายงานว่า ปรับลดลงทั้งก้อน แต่ในส่วนของกมธ.ฯชุดใหญ่มีมติเห็นว่าการปรับลดนั้น ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนกองทัพที่จะได้ยุทโธปกรณ์ไปดำเนินการในการใช้ และวางแผนตามความเหมาะสม กมธ.ฯเสียงข้างมากจึงพิจารณาว่ามติครม.เขียนลักษณะนั้นเพื่อบังคับทุกหน่วยงาน รวมถึงกระทรวงกลาโหม แต่ไม่ได้หมายความว่า การบังคับนั้นจะมาผูกพันกับการพิจารณางบประมาณของกมธ.ฯ แต่อย่างใด เพราะเราแยกอำนาจในการตั้งงบประมาณที่เป็นหน้าที่ฝ่ายบริหาร ส่วนอำนาจการอนุมัติเป็นอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ
"เรื่องนี้ที่ประชุมกมธ.ฯ ชุดใหญ่ไม่ได้มีการสอบถามว่าการพิจารณาไปขัดหรือแย้งมติครม.หรือไม่ เพราะทุกคนเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจการปรับลดตัดทอนที่ไม่ขัดมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นที่ห่วงว่ากมธ.ฯ ตัดงบจะไปขัดมติครม.หรือไม่ เข้าใจว่ามีกมธ.ฯบางท่านไปสอบถามสำนักงบประมาณแล้ว ทราบว่าเคยมีเรื่องการตั้งงบประมาณมาแล้วมีการปรับลดเหลือน้อยกว่าตามที่มติครม.กำหนด ซึ่งสามารถทำได้"นายวราเทพ ชี้แจง
จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติมาตรา 8 ปรากฎว่า มีผู้ลงมติเห็นด้วย 216 เสียง ไม่เห็นด้วย 83 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง
วันเดียวกัน พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผย ผลวินิจฉัยยุติเรื่องนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องร้องเรียนเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มาตรา 23 (1) เพื่อพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าครบกำหนดเวลา 8 ปีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ เมื่อใด และความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อใด
ดังนั้น ปัญหาตามคำร้องเรียนนี้จึงเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดหน่วยงาน หลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการพิจารณาวินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีไว้โดยชัดแจ้งและเป็นการเฉพาะแล้ว โดยกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการส่งเรื่องในลักษณะดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย
กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 37 (3) แต่เป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่นตามมาตรา 37 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่อาจอาศัยอำนาจตามมาตรา 23 (1) เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงวินิจฉัยยุติเรื่องร้องเรียน ตามมาตรา 37 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560
ที่รัฐสภา นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาว่า มีหลายความเห็นที่มองแตกต่างกัน แต่สุดท้ายต้องจบที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ส่วนตัวขอมองความตามรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้ด้วยลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน ซึ่งหากจะตีความนอกเหนือจากนี้ คงเป็นไปได้ยาก จะทำให้สังคมสับสน และต่อไปคงทำให้กฎหมายมีปัญหาทั้งหมด
เมื่อถามว่าพรรค พปชร.ได้หารือถึงเรื่องดังกล่าว และเตรียมความพร้อมหากเกิดอุบัติทางการเมืองหรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า ยังไม่มีการพูดถึง เพราะคิดแบบตรงไปตรงมา ศาลตัดสินว่าอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น และเชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองหรือทำให้พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่ง
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จะเข้ามาแทน นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตโฆษกประจำสำนักนายกฯ ที่ลาออกไปเป็น สส.ระบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคพลังประชารัฐ ขณะนี้นายกฯ กำลังตัดสินใจเลือก โดยมีรายชื่อที่เข้าข่ายอยู่ 4 รายชื่อ ประกอบด้วย นายสกลธี ภัททิยะกุล อดีตผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ที่คาดว่าหากได้เข้ามารับตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก็จะสามารถก็จะสามารถตอบโต้ชี้แจงในทางการเมืองได้ เหมือนกับที่นายธนกร ได้ทำมาแล้ว
คนต่อไปที่มีชื่อคือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตโฆษกฯ อาจพิจารณาให้กลับมาปฎิบัติหน้าที่ โฆษกฯ อีกครั้งหนึ่ง แต่ยังติดที่นายอนุชา ไม่ถนัดที่จะตอบโต้ทางการเมือง ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในขณะนี้
ส่วนคนต่อไปคือนายวรัชญ์ ครุจิต เป็นทีมงานประชาสัมพันธ์ การสื่อสารของ ศบค. โดยที่ผ่านมา นายวรัชญ์ ถือเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทในการชี้แจงข้อมูลข่าวสารในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ช่วยสร้างความเข้าใจกับประชาชนได้เป็นอย่างดี แต่ในทางการเมืองยังเป็นห่วงว่าจะสามารถทำหน้าที่ได้หรือไม่ และคนสุดท้ายที่มีข่าวออกมาคือนายเสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเทิดไท ที่ทำหน้าที่องครักษ์พิทักษ์พล.อ.ประยุทธ์มาตลอด
สำหรับน.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ปัจจุบันมีตำแหน่งทางการเมืองคือตำแหน่งประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ผ่านมาทำหน้าที่ตอบโต้ทางการเมืองให้กับนายกฯ มีรายงานว่าจะได้รับแต่งตั้งเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งคน โดยจะเน้นการมาช่วยชี้แจงตอบโต้ทางการเมือง