ถือเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยเลยทีเดียว  เมื่อ  “น้องแพร - นางสาวมัญญสิริ โชติบูรณ์วงศ์” เยาวชนคนเก่งวัย17 ปี นักเรียนชั้นเกรด 12 โรงเรียนร่วมฤดีวิเทศศึกษา  จัดทำโครงการ “HER” ที่เริ่มต้นจากโครงการของเยาวชนไทย สู่รางวัลระดับโลก “ Diana Award”   ด้วยแนวคิด ออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัยแบบผ้า ที่สามารถช่วยเหลือผู้หญิงที่ขาดแคลนผลิตภัณฑ์ประจำเดือนได้ในระยะยาว เป็นโครงการที่ได้รับความสนใจอยู่ในขณะนี้ ซึ่งมีการพัฒนาอยู่ตลอดเพื่อตอบโจทย์และเข้าถึงผู้หญิงให้มากที่สุด  นอกจากโครงการ “HER” แล้ว น้องแพร ยังได้รับรางวัลชมเชยในการแข่งขันโอลิมปิกปรัชญาที่ประเทศโปรตุเกส อีกด้วย เรียกว่าเก่งครบเครื่องเลยจริงๆ
            

โดย น้องแพร มัญญสิริ เผยถึงจุดเริ่มต้น โครงการ “HER” เกิดมาจากที่ตนเองมีปัญหาเรื่องประจำเดือน โครงการนี้เธอเป็นผู้ก่อตั้ง และรวมตัวกับกลุ่มเพื่อนมีความเห็นตรงกัน ที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผู้หญิงที่ขาดแคลนผ้าอนามัย จึงมีแนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์แบบผ้า  เป็นวิธีการที่เราจะสามารถช่วยเหลือผู้หญิงที่ขาดแคลนผลิตภัณฑ์ประจำเดือนได้ในระยะยาว 
        

 “ที่มาที่ไปเกิดจาก  แพรมีปัญหาเรื่องประจำเดือนที่ขาดหายไป 8 เดือน   และได้มีการพูดคุยกับเพื่อนๆ ทราบว่ามีผู้หญิงหลายคนที่มีปัญหามากกว่าเราอีก  อย่างปัญหาเรื่องขาดแคลนผ้าอนามัย แพรเลยมีแรงบันใจ ก่อตั้งโครงการ “HER” นี้ขึ้นมารวบรวมเพื่อนๆหลายๆคน ระดมทุนดีไซน์สร้างผ้าอนามัยแบบผ้าของเราเอง และนำไปบริจาคให้กับผู้หญิง และเด็กนักเรียนที่เค้าขาดแคลนผ้าอนามัย นอกจากนี้ยังทำอีเว้นท์และพูดคุยเรื่องปัญหาประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติ และอยากผลักดันความคิดให้พูดถึงเรื่องนี้อย่างไม่อายใคร  และแพรกับเพื่อน มีการทำ  รีเซิร์ช เกี่ยวกับแบรนด์ผ้าอนามัยแบบผ้าต่าง ๆ   ตรงไหนดีตรงไหนไม่ดี อะไรเป็น จุดอ่อน  อะไรเป็นจุดแข็ง ของผลิตภัณฑ์  มีวัสดุ อะไรที่มันสามารถซึมซับน้ำได้ดี เราก็ไปทำ  รีเซิร์ช เกี่ยวกับวัสดุ ที่ทำจากสาหร่าย ที่ทำมาจากเปลือกแอปเปิ้ลก็มี มีทำมาจากผักตบชวาก็มี มีทำเป็นผ้าไมโครไฟเบอร์ก็มีหามาแล้ว สุดท้ายเราก็เลยมาลงเอยที่ผ้าสาลูแล้วก็มีการทดลอง ตัวเม็ดซึมซับของที่ทำจากชานอ้อย  เราจะทำเลเยอร์ 4 เลเยอร์ตรงกลาง แล้วก็เลเยอร์บน แล้วก็เลเยอร์ล่าง แล้วก็มีการดีไซน์ อยากทำปลอกที่เอาไว้สอดผ้าอนามัยเข้าไป เรามีการพัฒนาและนำมาปรับปรุงอยู่ตลอด”
            

น้องแพรเล่าถึงความรู้สึกที่โครงการ “HER”  ได้รับรางวัล Diana Award เป็นรางวัลที่อยู่ในนามเจ้าหญิงไดอาน่าของประเทศอังกฤษ ซึ่งรางวัล Diana Award จะมอบให้เยาวชนอายุ 9 – 25 ปี
       

“ได้รับรางวัล Diana Award  รู้สึกดีใจมากค่ะ ตื่นเต้นมากๆค่ะ รู้สึกขอบคุณ นอกจากดีใจแล้วเรารู้สึกว่า หนึ่งเลยทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่เราทำมีความหมาย ต่อหลายๆชีวิต สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงในสังคมของเรา การได้รับรางวัลนี้สิ่งที่ได้รับรางวัลสามารถไปต่อได้ นอกจากความสุขนั้น อยากขอบคุณทีมงานและเพื่อนๆทุกๆคน พาร์ทเนอร์ทุกคนที่คอยสนับสนุนพวกเรา ที่ทำให้เราช่วยเหลือผู้หญิงได้มากมายขนาดนี้  สุดท้ายมันเป็นกำลังใจให้ her ได้ไปช่วยเหลือผู้หญิงมากไปกว่านี้อีกค่ะ”  
            

“ความเป็นมาของรางวัลนี้ เป็นรางวัลที่มอบในนามของเจ้าหญิงไดอาน่า เป็นมูลนิธิไดอาน่าโดยเฉพาะ แล้วก็รางวัลนี้เขาจะตัดสินเยาวชนจาก 5 เกณฑ์ด้วยกัน ซึ่งเกณฑ์แรกจะเป็นเกณฑ์ Vision คือว่าเราจะทำไมเราถึงสร้างโครงการของเราขึ้นมา จะมี Social Impact คือเราช่วยเหลือคนไปมากขนาดไหน เรามี Impact ต่อสังคมขนาดไหน มี Service Journey คือหลังจากที่เราทำโครงการเหล่านี้แล้ว เราได้เรียนรู้อะไร นอกจากเราได้เปลี่ยนแปลงสังคมแล้ว มันเปลี่ยนตัวเราให้ดีขึ้นอย่างไร มีแรงบันดาลใจ  ให้กับผู้อื่นอย่างไร สุดท้ายแล้ว  คือเราเป็นเยาวชนคนหนึ่งที่เป็นผู้นำในกลุ่มไหน เราเป็นผู้นำอย่างไร อาจจะแบบมีทีมที่คอยซัพพอร์ตเรา แล้วซึ่งเราก็ต้องเป็นผู้นำที่ดี แล้วก็คอยนำพวกเขาในการที่จะทำโครงการนี้ขึ้นมาจนประสบความสำเร็จค่ะ” 

นอกจากโครงการ “HER” แล้ว น้องแพร ยังได้รับรางวัลชมเชยในการแข่งขันโอลิมปิกปรัชญาที่ประเทศโปรตุเกส อีกด้วย โดยน้องแพรเผยว่า  “แพรเป็นตัวแทนไปแข่งขันที่โปรตุเกสค่ะ  มีการคัดเลือกในประเทศไทย  2 คน  แพรได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่วิเศษมากๆ   เราได้มากกว่าคู่แข่ง คือเราได้เจอเพื่อน ๆ จากหลายประเทศ จาก 46 ประเทศด้วยกัน ซึ่งพวกเขาก็เก่ง ๆ กันทั้งนั้นเลย บางคนเขาถูกเลือกมาจากเป็นพัน ๆ คนเลย พวกเขาก็คือเก่งที่สุดจากพันคนเลย ซึ่งเราก็โชคดีมาก ๆ ที่ได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ ณ จุด ๆ นั้น ที่เราสามารถได้คุยกับพวกเขา ได้ทำความรู้จักพวกเขา เป็นเพื่อนกับพวกเขา ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเกี่ยวกับประเทศของกันและกัน   ปรัชญาสามารถเข้ามาใช้ในสังคมไทยเราได้ เราอาจจะสามารถสร้างสังคมที่ตั้งคำถาม สามารถตั้งคำถามได้มากขึ้น  นั้นอาจจะเป็นสาเหตุที่เราไม่มีการสอบปรัชญาในโรงเรียนของเรา แต่ว่าถามว่าเราสอนได้ไหม เราก็จำเป็นที่จะต้องมีบุคลากรที่พร้อมก่อน ที่จะสอนปรัชญา เพราะปรัชญามันไม่ใช่แค่การสอนธรรมะ  มันคือการสอนมันเป็นคล้าย ๆ วิชาวิทยาศาสตร์   เป็นแขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์เลยก็ว่าได้ เพราะเป็นการตั้งคำถามแต่มันก็คือการที่เราจะต้องหาข้อมูล มีข้อมูลของนักปรัชญาหลายคน มาซัพพอร์ตความคิดเห็นของเรา ซึ่งความคิดเห็นของเรามันสามารถแตกต่างไปจากใครก็ได้เป็นความคิดเห็นของเราเองก็ได้  เรื่องปรัชญาไม่ใช่เรื่องไกลตัว  อยากจะฝากถึงเยาวชนทุกๆคน เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมของตัวเองได้ แค่เราเชื่อในสิ่งที่เราอยากจะผลักดัน เราต้องหาว่าทำไมเราอยากทำสิ่งสิ่งนี้  และเราลองเดินก้าวออกมาจากจุดที่เราคุ้นชิน เดินออกมาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่ตัวเองแต่เพื่อคนอื่นๆ แค่นี้เราก็สามารถช่วยเหลือคนและสร้างการเปลี่ยนไปได้แล้วค่ะ”