มุ่งเน้นงบประมาณที่ใช้ประโยชน์สูงสุดกับประชาชนจริงๆ เราต้องตัด ปรับลดโครงการที่ไม่มีความจำเป็นออกไป โดยงบประมาณที่คณะกรรมการวิสามัญฯ ปรับลดวงเงินไปเป็นเงินทั้งสิ้น 4,803,793,728 บาท งบที่ปรับลดไปเป็นโครงการที่ผู้บริหารฯใช้จ่ายไม่ทัน จึงต้องปรัดลดไม่ให้เงินคาไว้ เพื่อให้ผู้บริหารฯชุด ผู้ว่าฯ ชัชชาติ แปรญัตติกลับเข้ามา ในวงเงินจำนวนที่เท่ากัน เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาให้กับคนกรุงเทพฯ
(18 ส.ค.65) นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พร้อมคณะกรรมการวิสามัญฯ ร่วมแถลงข่าวสรุปภาพรวมงบประมาณปี 2566 ของกรุงเทพมหานคร ณ โถงชั้น 1 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม.2 ดินแดง ก่อนการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2565 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการพิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในวาระสอง และวาระสาม โดยฝ่ายบริหารชุดนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แปรญัตติงบประมาณที่คณะกรรมการวิสามัญฯ ปรับลดกลับเข้าไปเต็มจำนวน
นายสุทธิชัย กล่าวว่า ตนเชื่อว่า พี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพฯ ให้ความสนใจเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกรุงเทพมหานคร เพราะงบประมาณนั้นเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ปีนี้ทางผู้บริหารฯ ได้ของบประมาณมาจำนวน 79,000 ล้านบาท ไม่รวมการพาณิชย์อีก 800 กว่าล้านบาท คณะกรรมการฯชุดนี้ ซึ่งมาจากประชาชน เรามุ่งเน้นงบประมาณที่ใช้ประโยชน์สูงสุดกับประชาชนจริงๆ เราต้องตัด ปรับลดโครงการที่ไม่มีความจำเป็นออกไป โดยงบประมาณที่คณะกรรมการวิสามัญฯ ปรับลดวงเงินไปเป็นเงินทั้งสิ้น 4,803,793,728 บาท งบที่ปรับลดไปเป็นโครงการที่ผู้บริหารฯใช้จ่ายไม่ทัน จึงต้องปรัดลดไม่ให้เงินคาไว้ เพื่อให้ผู้บริหารฯชุด ผู้ว่าฯ ชัชชาติ แปรญัตติกลับเข้ามา ในวงเงินจำนวนที่เท่ากัน เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาให้กับคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เส้นเลือดฝอย เป็นประเด็นสำคัญ ให้เขตต่างๆได้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้กับคนกรุงเทพฯ
นอกจากนี้ คณะกรรมการวิสามัญฯ ยังได้ติดตามการใช้งบประมาณโครงการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ สำนักการศึกษาได้ของบเช่าจัดหาคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ให้กับนักเรียนกทม. โดยของบปี 2563 จำนวน 700 กว่าล้านบาท แต่ยังไม่ทำอะไรเลย นักเรียนกทม.เสียโอกาสปีละประมาณ 50,000 คนที่ไม่ได้เรียนคอมพิวเตอร์ ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้สอบถามงบประมาณที่ได้รับไปแล้ว เร่งรัดให้เร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในกระบวนการต่างๆ เพื่อให้นักเรียนกทม. ได้มีโอกาสได้เรียนรู้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา รวมถึงจะได้ติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณปี 2566 มุ่งเน้นเรื่องการแก้ไขปัญหาพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็น ถนน ไฟฟ้าส่องสว่าง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยจะเร่งรัดให้หน่วยงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ให้ทันปีงบประมาณ 2566
นางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ โฆษกสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ทางฝ่ายบริหารได้เล็งเห็นและให้ความสำคัญในการดูแลปัญหาเส้นเลือดฝอย โดยได้มีการแปรงบกลับเข้ามาในภาพรวมทั้ง 50 สำนักงานเขต ในการดูแลถนน การขุดลอกคู คลอง และทำความสะอาดท่อระบายน้ำ แต่แม้จะแปรกลับมาเท่าไรก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน อย่างไรก็ดีในปีนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น รวมถึงเรื่องการศึกษาที่ยังจัดสรรงบประมาณได้ไม่เพียงพอ และเรื่องระบบระบายน้ำที่เรายังต้องการงบประมาณดำเนินการอีกมาก เพื่อกรุงเทพฯ สามารถระบายน้ำได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเรื่องปัญหาน้ำท่วม สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเรามีความพยายามอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้ เพื่อให้คนกรุงเทพฯ สะดวกมากยิ่งขึ้น