วันที่ 18 ส.ค.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 726,449 คน ตายเพิ่ม 1,837 คน รวมแล้วติดไป 597,589,917 คน เสียชีวิตรวม 6,461,665 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อิตาลี และฝรั่งเศส

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 83.36 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 61.67

...สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 15 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

...อัพเดตโควิด-19 กับโรคทางสมอง/ระบบประสาท และจิตเวช

ล่าสุด Taquet M และคณะ จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด สหราชอาณาจักร ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ The Lancet Psychiatry

ถือเป็นงานวิจัยที่ศึกษาย้อนหลัง 2 ปี ในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่มากถึงเกือบ 1.3 ล้านคนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งยุโรป เอเชีย และอเมริกา ครอบคลุมตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน และผู้สูงอายุ โดยทำการประเมินความเสี่ยงของปัญหา Long COVID ที่ส่งผลให้เกิดโรคทางสมอง ระบบประสาท และจิตเวช

สาระสำคัญคือ

หนึ่ง Omicron ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหา Long COVID ด้านสมอง ระบบประสาท และจิตเวช ไม่ต่างจากเดลต้า หรือสายพันธุ์ก่อนหน้า

สอง ผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 มีความเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติด้านอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ฯลฯ แต่ความเสี่ยงจะค่อยๆ ลดลงสู่ปกติภายในเวลา 2-3 เดือน

สาม ผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงต่อปัญหาทางสมองและระบบประสาท เช่น ปัญหาด้านความคิดความจำ สมาธิ สมองเสื่อม โรคจิต โรคลมชัก ฯลฯ มากกว่าปกติยาวนานจนถึง 2 ปีที่ทำการศึกษา (ซึ่งอาจนานกว่า 2 ปี หากมีการศึกษาต่อในอนาคต)

ผลการศึกษานี้เป็นที่สนใจของทั่วโลก เพราะชี้ให้เห็นว่าปัญหา Long COVID นั้นเป็นเรื่องสำคัญ และภาวะผิดปกติต่อสมอง ระบบประสาท รวมถึงจิตใจและอารมณ์นั้นเกิดขึ้นได้หลากหลาย โดยความเสี่ยงต่อหลายโรคนั้นคงอยู่ยาวนานถึง 2 ปี หรืออาจมากกว่านั้น ที่สำคัญคือการติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron ก็มีความเสี่ยงต่อภาวะต่างๆ ดังกล่าว ไม่ได้น้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้าเลย

นอกจากระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศต้องเตรียมรับมือ จัดระบบบริการที่จะสามารถให้การตรวจคัดกรอง ดูแลรักษา และฟื้นฟูสภาพแล้ว แต่ละประเทศยังจำเป็นต้องพิจารณาระบบสนับสนุนทางสังคมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยต่างๆ ที่ประสบปัญหาข้างต้น ให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันไปได้ด้วย

สำหรับประชาชนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็ควรมีความรู้เท่าทัน หมั่นประเมินสุขภาพของตนเอง ทั้งเรื่องความคิดความจำ สมาธิ อารมณ์ หากผิดปกติไปจากอดีต ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและให้การดูแลรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที

...การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง เป็นหัวใจสำคัญ...

อ้างอิง

Taquet M et al. Neurological and psychiatric risk trajectories after

SARS-CoV-2 infection: an analysis of 2-year retrospective

cohort studies including 1284437 patients. The Lancet Psychiatry. 17 August 2022.