เขียนโดย  จาง ย่าสง

ปัจจุบัน การเดินทางข้ามแม่น้ำเซินเจิ้นเพื่อสานฝันที่เขตอ่าวเศรษฐกิจกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า กำลังกลายเป็นทางเลือกใหม่ของหนุ่มสาวเขตฮ่องกงและเขตมาเก๊า

เขตอ่าวเศรษฐกิจกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ครอบคลุมเขตบริหารพิเศษฮ่องกง  เขตบริหารพิเศษมาเก๊า  และ 9 เมืองตามลุ่มแม่น้ำจูเจียงมณฑลกว่างตง ได้แก่ เมืองกว่างโจว  เมืองเซินเจิ้น  เมืองจูไห่  เมืองโฝซาน  เมืองฮุ่ยโจว  เมืองตงกว่าน  เมืองจงซาน  เมืองเจียงเหมิน  และเมืองเจ้าชิ่ง  มีพื้นที่ทั้งสิ้น 56,000 ตารางกิโลเมตร  และมีประชากรประมาณ 70 ล้านคนเมื่อปี2017  จากรายงานปี 2020 ระบุว่า ขนาดเศรษฐกิจของเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊ามีมูลค่าถึง 11.5 ล้านล้านหยวน  หมายความว่าพื้นที่ 0.6%ของพื้นที่ทั้งหมดของจีนนี้ ได้สร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเกือบ 13%

ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ.2018  “สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า” เป็นสะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในโลกได้สร้างแล้วเสร็จและเปิดเดินรถ  ได้ช่วยย่นเวลาการเดินทางจากเขตมาเก๊า  ผ่านเมืองจูไห่ไปยังเขตฮ่องกงจากกว่า 3 ชั่วโมงเหลือเพียงประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้น  นอกจากนี้  การพัฒนา “วงเศรษฐกิจ+ชีวิต 1 ชั่วโมง” ได้อำนวยความสะดวกต่อการไปมาหาสู่และติดต่อแลกเปลี่ยนระหว่างชาวบ้านใน 3 พื้นที่ดังกล่าว  และพร้อมกับเขตแดนชั้นในของจีนได้ใช้มาตรการจำนวนหนึ่งในการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น  ซึ่งรวมถึงมาตรการทางด้านการคมนาคม  บ้านอยู่อาศัย  การรักษาพยาบาล  และการศึกษา  เป็นต้น  ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในมณฑลกวางตุ้ง  เขตฮ่องกงและเขตมาเก๊ารวม 3 พื้นที่ก็ได้รับการปรับปรุงให้สะดวกและราบรื่นยิ่งขึ้น  โดยมีชาวฮ่องกงและชาวมาเก๊าจำนวนมากยิ่งขึ้นนิยมมาหางานทำหรือพำนักอยู่ในเขตแดนชั้นในของจีน  เพื่อแบ่งปันโอกาสอันดีจากการพัฒนาบ้านเมืองของจีน

ค.ศ.2019  จีนได้ประกาศเค้าโครงแผนพัฒนาเขตอ่าวเศรษฐกิจกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า เมื่อรู้ข่าวนี้  นางเจิง หว่านเหวิน จากเขตมาเก๊าและเคยไปเรียนหนังสือที่ออสเตรเลีย ก็ตัดสินใจมาตั้งบริษัทของตนอยู่ที่เขตใหม่เหิงฉิน  เมืองจูไห่  มณฑลกวางตุ้ง  เธอระบุว่า  สภาพแวดล้อมในการสร้างนวัตกรรมและการประกอบการในเหิงฉินดีมาก  การที่หนุ่มสาวเขตมาเก๊าและฮ่องกงมาทำธุรกิจประกอบการที่นี่  ไม่เพียงแต่จะได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนเท่านั้น  หากยังมีสิทธิพิเศษในการระดมเงินทุน  และเช่าพื้นที่ทำงาน  เป็นต้น  นอกจากนี้  เขตใหม่เหิงฉินยังมีวงเศรษฐกิจ+ชีวิตที่มีคุณภาพอีกด้วย  ถือว่าเป็นสถานที่ที่น่าอยู่อาศัยและเป็นผลดีต่อการสร้างนวัตกรรม

หนุ่มติง เค่อ  สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยภาษาจีนฮ่องกง  และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสี่ยนหยางเมืองเซินเจิ้น  เขาระบุว่า  การพัฒนาเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการประกอบการ  เมื่อปี 2018  ติง เค่อ นำทีมงานของตนมาลงหลักปักฐานในนิคมการสร้างนวัตกรรมและประกอบการสำหรับหนุ่มสาวกวางตุ้ง–ฮ่องกง-มาเก๊า ที่ตั้งอยู่ในเขตฝูเถียนเมืองเซินเจิ้น  ปีเดียวกัน  ทีมงานของติง เค่อรวบรวมเงินทุนได้ 20 ล้านหยวน บวกกับระดมเงินทุนได้อีก 80 ล้านหยวน

ศักยภาพการพัฒนาอันใหญ่หลวงของเขตอ่าวเศรษฐกิจกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ได้ดึงดูดบุคลากรวัยหนุ่มสาวมาชุมนุมกัน  ปัจจุบัน  มีหนุ่มสาวฮ่องกงและมาเก๊าจำนวนมากยิ่งขึ้นเลือกมาทำงานที่นี่เพื่อได้โอกาสการพัฒนาที่ดียิ่ง  หนุ่มสาวเหล่านี้ระบุว่า  เนื่องจากเขตอ่าวกว่างตง–ฮ่องกง-มาเก๊ามีมาตุภูมิเป็นแบ็คอัพ ย่อมจะมีช่องว่าง  โอกาส  และอนาคตที่กว้างไกล

ปัจจุบัน  มหาวิทยาลัยจี่หนานในเมืองกว่างโจว  เมืองเอกมณฑลกวางตุ้ง  มีนักศึกษาจากเขตฮ่องกงและมาเก๊าจำนวนกว่าหมื่นคน  ซึ่งหลายคนปรารถนาว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์เขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า

หวง ข่าย นักศึกษาฮ่องกง เอกการเงินรุ่นปี 2018 มหาวิทยาลัยจี่หนาน ระบุว่าหลายปีมานี้  โดยเฉพาะหลังจากมีการตั้งเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊าเป็นต้นมา  เราได้เห็นว่ามีหนุ่มสาวจากเขตฮ่องกงจำนวนมากยิ่งขึ้นมาเรียนหนังสือหรือทำงานที่เขตอ่าวเศรษฐกิจนี้  การศึกษาเล่าเรียนและมีงานทำเป็นเรื่องใหญ่สำหรับทุกคน  ไม่ว่าใครต่างก็หวังที่จะไปยังสถานที่ที่อุดมไปด้วยโอกาส เพื่อสร้างความเป็นไปได้ให้มากยิ่งขึ้น 

นายหวัง ข่าย  นายกสมาคมการสร้างนวัตกรรมและประกอบการของหนุ่มสาวฮ่องกง  ผู้อำนวยการศูนย์ประกอบการของหนุ่มสาวเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ระบุว่า  ปีหลัง ๆ มานี้  พร้อมกับหนุ่มสาวฮ่องกงพากันมาประกอบการในเขตเฉียนไห่  เมืองเซินเจิ้น  และประสบผลงานที่ดีต่อเนื่อง  ฐานสานความฝันหนุ่มสาวเมืองเซินเจิ้นและเขตฮ่องกงที่ตั้งอยู่ในเขตเฉียนไห่ จึงมีชื่อเสียงมากยิ่งขึ้นในสถาบันอุดุมศึกษาของเขตฮ่องกง  เราได้รับหนังสือสมัครทำงานในเขตเฉียนไห่จากหนุ่มสาวฮ่องกงและมาเก๊าเพิ่มมากขึ้นตาม กลายเป็นกระแสนิยมที่มาแรงยิ่ง