“แก้จน พ้นหนี้ วิถีคนเซกา” สโลแกนเด่นของสหกรณ์การเกษตรเซกา จำกัด อ.เซกา จ.บึงกาฬ ภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพแก้หนี้แก้จนของคนสหกรณ์ ถือเป็นสหกรณ์ต้นแบบในการดูแลส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิก จนสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้ จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้ได้รับคัดเลือกจาก กรมส่งเสริมสหกรณ์ให้เป็นผลงานดีเด่นเพื่อเสนอเข้ารับรางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ปี 2565 ประเภทร่วมใจแก้จนอีกด้วย
นางสาวนิ่มนวล ศรีรักษา ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเซกา จำกัด เปิดเผยว่า แต่ก่อนสหกรณ์ฯได้ดำเนินธุรกิจปล่อยเงินกู้ให้กับสมาชิกเพียงอย่างเดียว ส่งผลให้เกิดภาวะหนี้ค้างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากสมาชิกไม่มีเงินส่งคืนสหกรณ์ แต่หลังจากมีโครงการนี้ขึ้นมา ทำให้สหกรณ์ฯมีภาวะหนี้ค้างลดลง จากเดิมที่มีหนี้ค้างจำนวน 58 ล้านบาท ขณะนี้คงเหลือยอดหนี้ค้างเพียง 20 ล้านบาท ทั้งนี้การเกิดหนี้ค้างดังกล่าวเป็นผลมาจากการเกิดวิกฤติราคายางพาราตกต่ำเมื่อปี 2559 ทำให้สมาชิกไม่สามารถชำระเงินคืนได้ จึงเป็นที่มาของโครงการดังกล่าว
“ชาวเซกาส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือทำสวนยางพารา แต่พอมีปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ สหกรณ์จึงทำโครงการส่งเสริมอาชีพ“แก้จน พ้นหนี้ วิถีคนเซกา”โดยการสนับสนุนของกรมส่งเสริมสหกรณ์และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดบึงกาฬ เป็นการกระตุ้นให้สมาชิกสหกรณ์ฯเซกาหันมาประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้มากขึ้นไม่ต้องพึงพารายได้จากยางพาราเพียงอย่างเดียว”
ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเซกา จำกัด เผยต่อว่าหลังจากเปิดรับสมาชิกเข้าร่วมโครงการฯในปี 2560 จากนั้นได้จัดทำสมาชิกเป็นหมวดหมู่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และความสมัครใจของแต่ละราย อาทิ กลุ่มนาเฮาผลิตข้าวอินทรีย์ กลุ่มคนเลี้ยงสุกร กลุ่มเกษตรผสมสาน เป็นต้น จากนั้นทางเจ้าหน้าที่สหกรณ์ก็จะเข้าไปส่งเสริมอาชีพสมาชิกแต่ละรายในแต่ละกลุ่ม
“ที่เราส่งเสริมอาชีพก็คือจะดูวัตถุประสงค์พื้นเพของสมาชิกจริง ๆ ว่าเขาทำอาชีพอะไร ไม่ได้ยัดเยียดให้ อย่างกลุ่มคนเลี้ยงสุกร เราก็ไม่สามารถส่งเสริมให้ได้ทุกราย เพราะด้วยสภาพพื้นที่และกลิ่นต้องไม่รบกวนชาวบ้านด้วย”
นางสาวนิ่มนวลกล่าวถึงกลุ่มคนเลี้ยงสุกรว่าสมาชิกจะต้องมีความสนใจ และมีวินัยมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง ส่วนการส่งเสริมจะดำเนินการแบบครบวงจร ตั้งแต่เริ่มแรกการสร้างคอกโดยให้สมาชิกกู้รายละไม่เกิน 3 หมื่นบาทปลอดดอกเบี้ย จากนั้นก็สนับสนุนลูกสุกรขุนให้สมาชิกรายละ 10 ตัว จากพ่อแม่พันธุ์สุกรสายพันธุ์สวนยาง พร้อมกับหัวอาหาร โดยสหกรณ์ร่วมกับบริษัทผลิตอาหารสูตรเฉพาะสำหรับสุกรสายพันธุ์ดังกล่าวให้กับทางสหกรณ์โดยตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
“เรื่องตลาดก็จะมีคณะกรรมการฯดูแล พ่อค้ารายไหนให้ราคาแพงที่สุดเราก็จะให้รายนั้นจับในเดือนนั้น แต่สิ่งที่อยากจะต่อยอดต่อไปก็คือการตั้งกลุ่มแปรรูปสุกร บางครั้งเราไม่สามารถส่งออกนอกได้ ปกติสุกรของสมาชิกจะส่งไปนครพนม สปป.ลาวและเวียดนามพอเกิดวิกฤติโควิด-19 เมื่อเราไม่สามารถเคลื่อนย้ายสุกร ตัวเป็น ๆ ได้ ก็อยากจะตั้งกลุ่มเพื่อแปรรูปเนื้อสุกรขึ้นมา เช่นการสไลด์เนื้อ การทำกุนเชียง เป็นต้น”ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเซกา จำกัด กล่าว
นายสมัคร พิมพิลา อายุ 46 ปี เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์การเกษตรเซกา จำกัด อดีตเด็กช่างยนต์ที่หันมาเอาดีด้านอาชีพการเลี้ยงสุกร3 สายพันธุ์ ปัจจุบันรั้งตำแหน่งประธานกลุ่มคนเลี้ยงสุกร ของสหกรณ์การเกษตรเซกา จำกัด ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่จำนวน 52 รายเล่าว่าเริ่มเลี้ยงสุกรอย่างเต็มตัวมาตั้งแต่ปี 2558 หลังจากลาออกจากงานที่วิทยาลัยการอาชีพเซกา เริ่มแรกทำเป็นอาชีพเสริม เพราะต้องการมูลสุกรมาผลิตปุ๋ยชีวภาพใส่สวนยางพาราเพื่อลดต้นทุนการผลิตจากวิกฤติราคาปุ๋ยเคมีแพง
หลังเลี้ยงมาระยะหนึ่งเห็นว่าสร้างรายได้ดี ทำให้เขามีความคิดต่อยอดปรับปรุงพัฒนามาเป็นอาชีพหลัก จึงทำให้มีการศึกษาวิธีการเลี้ยงสุกรอย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นซื้อพ่อแม่พันธุ์ดูร๊อค ลาธุ์จไวร์และแลนด์เรซ จากฟาร์มสุกรในจ.บุรีรัมย์และราชบุรีจำนวน 10 ตัวเพื่อนำมาพัฒนาเป็นสุกร 3 สายพันธุ์เลือดนิ่ง ถึงวันนี้มี สุกรขุน3 สายพันธุ์ที่เลี้ยงไว้ในฟาร์มพร้อมจำหน่ายจำนวน 160 ตัว นอกจากนี้ยังผลิตน้ำเชื้อสุกรจำหน่ายให้กับสมาชิกกับเกษตรกรที่สนใจทุกวันเฉลี่ยวันละ 5-10 หลอด สนนในราคาหลอดละ 200-300 บาท ส่วนสุกรโตเต็มวัยสนนในราคากิโลละ 98-100 บาทเฉลี่ยตัวละ 100-110 บาทต่อกิโลกรัม ระยะการเลี้ยงใช้เวลา 100-120 วันหรือประมาณ 4 เดือนก็สามารถจับจำหน่ายได้
“รายได้ตอนนี้มาจากการขายน้ำเชื้อ ส่วนหมูโตก็จะขายให้กับทางสหกรณ์ฯและสมาชิกที่มีเขียงประจำ ส่วนยางพารามีอยู่ 9 ไร่และปาล์มน้ำมันอีก 1 ไร่และกำลังทำแปลงปลูกเพิ่ม แต่รายได้หลักตอนนี้กลายเป็นว่ามาจากการเลี้ยงหมู”ประธานกลุ่มคนเลี้ยงสุกรคนเดิมกล่าว
ด้าน นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวภายหลังเยี่ยมชมนิทรรศการและผลผลิตจากสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มอาชีพในโครงการ “แก้จน พ้นหนี้ วิถีคนเซกา” โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์มีนโยบายในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร โดยได้ดำเนินการโครงการต่าง ๆ ได้แก่ โครงการช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย โครงการแก้ไขปัญหาหนี้ ค้างชำระของสมาชิกสหกรณ์ โครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อแก้ปัญหาหนี้และฟื้นฟูอาชีพสมาชิกสหกรณ์ รวมถึงการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้แก่ฝ่ายจัดการของสหกรณ์ ให้มีความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการธุรกิจสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของสมาชิก
“ผมได้เน้นย้ำให้สมาชิกสหกรณ์อยู่แบบพอเพียง ให้ครอบครัวมีอาหารบริโภคได้เพียงพอ และสามารถต่อยอดนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ เน้นการทำการเกษตรผสมผสาน ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้แบบหมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี”
สำหรับสหกรณ์การเกษตรเซกา จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2520 ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 2,087 ราย มีทุนดำเนินงานกว่า 43 ล้านบาท ธุรกิจหลักของสหกรณ์ ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย และธุรกิจรับฝากเงิน สมาชิกสหกรณ์ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร โดยมีพืชหลักที่สำคัญได้แก่ ยางพารา ข้าว ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง