ประสานงานกับกรมชลประทาน ซึ่งมีสถานีสูบน้ำที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดังกล่าวจำนวน 2 สถานี เดินเครื่องสูบน้ำทั้ง 2 สถานี เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ ส่วนน้ำด้านตะวันออกจะเข้ามาเติมในคลองแสนแสบ ทำให้ระดับน้ำในคลองแสนแสบนอกประตูระบายนำ้มีนบุรีมีระดับที่สูง จึงประกาศเตือนประชาชนที่อยู่ริมคลองเขตหนองจอก ลาดกระบัง ยกของขึ้นที่สูง ซึ่งอาจมีน้ำเอ่อล้นบางส่วน
(15 ส.ค.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหาร กทม. อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม.(ดินแดง) ว่า สำนักการระบายน้ำ ได้รายงานแผนการบริหารจัดการฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุน ปี 2565 โดยระบุว่าด้านตะวันออกของ กทม.คาดว่าจะมีจุดเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งพื้นที่ด้านตะวันออกของกทม. น้ำส่วนใหญ่มาจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขณะนี้ระดับน้ำในเขื่อนอยู่ที่ 46% ของความจุอ่าง อัตราการระบายน้ำ กรมชลประทานได้ปล่อยน้ำอยู่ที่ 161 ลบ.ม./วินาที สำหรับการเตรียมแผนรับมือ ต้องประเมินปริมาณน้ำในเขื่อนจากทางภาคเหนือที่จะปล่อยผ่านพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะนี้มีปริมาณสูงกว่าปีที่แล้วประมาณ 10% แต่ยังไม่ถึงวิกฤติ เนื่องจากวิกฤติน้ำท่วม เมื่อปี 2554 ที่มีปริมาณน้ำในเขื่อนสูงกว่า 75%
ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าจะไปหารือกับหน่วยงานที่ดูแลระบบน้ำทั้งประเทศ เพื่อวางแนวทางการบริหารจัดการน้ำพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะเดียวกัน กทม.ได้เดินหน้าตามแผนป้องกันน้ำท่วมอย่างเต็มที่ พร้อมเร่งซ่อมแซมแนวเขื่อน จุดฟันหลอต่างๆ สถานการณ์น้ำขณะนี้ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง กทม.เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ได้เฝ้าระวังพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯเป็นพิเศษ โดยได้ประสานงานกับกรมชลประทาน ซึ่งมีสถานีสูบน้ำที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดังกล่าวจำนวน 2 สถานี ได้แก่ 1.สถานีสูบน้ำคลองหกวาสายล่าง กำลังสูบ 35 ลบ.ม./วินาที และ 2.สถานีสูบน้ำหนองจอก กำลังสูบ 60 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกรมชลประทานเดินเครื่องสูบน้ำทั้ง 2 สถานี เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ ขณะเดียวกัน น้ำด้านตะวันออกจะเข้ามาเติมในคลองแสนแสบ ทำให้ระดับน้ำในคลองแสนแสบนอกประตูระบายนำ้มีนบุรีมีระดับที่สูง จึงได้ออกประกาศเตือนประชาชนที่อยู่ริมคลองเขตหนองจอก ลาดกระบัง ยกของขึ้นที่สูง ซึ่งอาจมีน้ำเอ่อล้นบางส่วน