ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ส่งหนังสือเวียนลงวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ถึงธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) เรื่อง มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (ฉบับที่ 3) โดยระบุว่า แม้ว่าสถานการณ์ภาพรวมจะคลี่คลายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาตามลำดับ แต่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ธปท.จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ "สินเชื่อฟื้นฟู" โดยเพิ่มประเภท "สินเชื่อเพื่อการปรับตัว" อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีความพร้อมต่อการปรับตัวและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2565

สำหรับ "สินเชื่อเพื่อการปรับตัว" เป็นการนำวงเงินเหลือจากโครงการสินเชื่อฟื้นฟูที่เหลือราว 6 หมื่นล้านบาท และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ อีกราว 5 หมื่นล้านบาท รวมวงเงินคงเหลือกว่า 1 แสนล้านบาท มาดำเนินการ

ทั้งนี้สืบเนื่องจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลงมติ 6 ต่อ 1 เสียง ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.75% หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำประวัติศาสตร์ 0.50% นานกว่า 2 ปี และถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดย กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทำให้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษมีความจำเป็นลดลง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ในสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและครัวเรือนรายได้น้อยที่มีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ คณะกรรมการเห็นว่าควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง