วันที่ 12 สิงหาคม 65 นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า การรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นยาต้านไวรัส ทั้งฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ เรมเดสซิเวียร์ แพกซ์โลวิด เริ่มแรกจะดูเรื่องประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และ ความปลอดภัย ระยะแรกในการทำงานทั้งหมด กระทรวงสาธารณสุข เป็นคนดูแลเรื่องการกระจายยาผ่านองค์การเภสัชกรรม ลงไปยังสถานพยาบาลทั่วประเทศ ทุกสังกัด เป็นการกระจายที่ครอบคลุม และมีสำรอง การจ่ายยาเป็นไปตามแนวทางเวชปฏิบัติของกรมการแพทย์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะยาทุกอย่างมีทั้งประโยชน์และโทษ ดังนั้นการเอามาใช้ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องผลข้างเคียงจากการใช้ยา และปัญหาเชื้อดื้อยาซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ยาบางชนิดแค่ระบบการขนส่ง การจัดเก็บ ต้องมาตรฐาน สิ่งเหล่านี้ต้องดูเพราะมีผลกระทบต่อคุณภาพยา ทั้งสิ้น

ซึ่งในส่วนของยาต้านไวรัสโควิด-19 โรงพยาบาล(รพ.)รัฐ และเอกชนนั้นสามารถซื้อได้เองอยู่แล้ว เช่น เรมเดสซิเวียร์ซึ่งเป็นยาฉีด รพ.เอกชน และรพ.อื่นๆ ก็มีอยู่แล้ว ส่วนฟาวิฯ โมลนูฯ ซึ่งเป็นยาที่รัฐจัดสรร ประชาชนไม่ต้องซื้อ ซึ่งระบบนี้มีมานานแล้ว แต่สถานพยาบาลเขาไม่ได้ซื้อเพราะเรากระจายไปให้ อย่างไรก็ตาม ยาในกลุ่มนี้เป็นยาในกลุ่มการใช้ในภาวะฉุกเฉิน(EUA) คือยาที่เราเห็นว่ามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง แม้ข้อมูลยังไม่ครบ 100% จึงจัดให้เป็นยาควบคุมพิเศษ

สำหรับกรณีการจ่ายยารักษาผู้ป่วยโควิด ในระบบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มีการรับยาได้ที่คลินิกนั้น เรื่องนี้ สปสช. มีการทำงานร่วมกับคลินิกอบอุ่นทั้งหลาย มีแอพพลิเคชั่นหรือระบบการจ่ายยาต่างๆ ซึ่งก็จะมีแพทย์เป็นผู้วินิจฉัย และสั่งจ่ายยาเช่นเดียวกัน แล้วให้มารับยาที่ร้านขายยา เข้าใจว่ามียาต้านไว้รัสด้วย

ดังนั้นในเวลานี้ร้านขายยาจะสั่งจ่าย หรือขายยาต้านไวรัสโควิด-19 ในร้านขายยา หรือประชาชนไปซื้อเองในร้านขายยานั้นคงไม่มี ต้องมีการวินิจฉัยโดยแพทย์ มีใบสั่งจากแพทย์ โดยทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)กำลังจัดระบบดังกล่าว