ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
“เป็นบุญตาวาสนาหรือนั่น เหมือนฝันได้พบกันอย่างนี้....”
เสียงเพลงลูกทุ่งจากวิทยุทรานซิสเตอร์ของบ้านมุงสังกะสีหลังใหญ่ที่อยู่ห่างออกไปสัก 20 วา ดังมาถึงกระท่อมมุงหญ้าคาหลังเล็ก ๆ คนในบ้านกำลังสาละวนทำคลอดให้กับหญิงสาวที่เพิ่งจะคลอดเป็นท้องแรก หมอตำแยพื้นบ้านตัดสายรกด้วยผิวไม้ไผ่บางเฉียบ อุ้มเด็กน้อยมาให้ชายหนุ่มผู้เป็นพ่อของเด็กเอาไปอาบน้ำอุ่นที่ผสมไว้ใน “คุ” ปี๊บสังกระสีที่นอกชานข้างกระท่อม เสียงเด็กร้องจ้าแข่งกับเสียงวิทยุในตอนสายวันนั้น เด็กหญิงคนนั้นจึงได้ชื่อว่า “บุญตา”
บุญตาอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ห่างจากตัวเมืองสัก 10 กิโลเมตรเศษ แต่ก็ยังเป็นชุมชนที่ทุรกันดาร เมื่อกว่าห้าสิบปีที่แล้วยังไม่มีไฟฟ้าใช้ มีทางลูกรังตัดเชื่อมเข้าตัวเมือง ทุกบ้านมีอาชีพทำนา บ้านที่มีฐานะหน่อยก็จะมุงหลังคาด้วยสังกะสี ซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่หลัง บ้านอื่น ๆ นอกนั้นยังมุงหลังคาด้วยหญ้าคา รวมถึงฝาบ้าน ส่วนพื้นบ้านที่ยกสูงขึ้นมาพ้นศีรษะส่วนใหญ่ก็เป็นไม้กระดาน มีบ้างที่ยังปู้ด้วย “ฟาก” หรือไม้ไผ่ตากแห้งทุบออกเป็นแผ่นทั้งลำ ที่ก็มีบ้านของบุญตารวมอยู่ด้วย ซึ่งนับเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะยากจนที่สุดในหมู่บ้านนั้น
ที่นาของครอบครัวของบุญตาอยู่ไกลจากหมู่บ้านมากกว่าของคนอื่น เพราะทางราชการเพิ่งอนุญาตให้ใช้พื้นที่ริม “ทาม” คือพื้นที่รอบ ๆ หนองน้ำเก่าของหมู่บ้านใกล้แนวชายป่าละเมาะที่เป็นเนินสูง คนอีสานเรียกว่า “โคก” หมู่บ้านนี้จึงได้ชื่อว่า “โคกนาทาม” ทุกวันแม่จะต้องตื่นแต่เช้าตั้งแต่เสียงไก่ขันยกแรก ซึ่งไก่ในหมู่บ้านจะขานรับทอดกันเป็นช่วง ๆ หรือ “ยก” แต่ละยกห่างกันราวครึ่งชั่วโมง พอไก่ขันยกที่สามฟ้าก็จะสว่างพอดี แต่พระอาทิตย์ยังไม่ทันขึ้น หรือถ้าเป็นหน้าหนาวก็อาจจะต้องรอถึงไก่ขันยกที่สี่ฟ้าจึงจะสว่างขึ้นบ้าง พอฟ้าสว่างแล้วแม่ก็จะหาบอาหารที่เพิ่งทำเสร็จใส่คอนไม้เอาไปให้พ่อที่ออกไปทำนาตั้งแต่ไก่ขันในยกที่สอง ซึ่งแม่ต้องเดินลัดเลาะไปตามคันนาในที่นาของคนอื่นไปสักครึ่งชั่วโมง พอพระอาทิตย์โผล่ขึ้นตรงยอดไม้ แม่ก็จะไปถึงที่นาแล้วเรียกพ่อมากินข้าว ซึ่งถ้าเป็นหน้าฝนพ่อก็กำลังไถนาอยู่ หรือถ้าเป็นเวลาที่ข้าวกำลังแตกกอพ่อก็กำลังจะใส่ปุ๋ยและกำจัดศัตรูต่าง ๆ ในนาข้าว จำพวกหอย ปู และตั๊กแตน ส่วนหน้าหนาวหลังจากดลงแขกเกี่ยวข้าวกันแล้ว พ่อก็จะมานอนค้างในที่นาเพื่อเฝ้ากองรวงข้าว ที่กว่าจะฝัดและตากจนแห้งก็ต้องใช้เวลาหลายวัน
ตอนอายุสัก 4 ขวบที่บุญตาเริ่มจำความได้นั้น บุญตาจำได้อย่างหนึ่งว่าเธอกลัวน้ำในท้องนามาก ๆ ตอนนั้นคงเป็นต้น ๆ หน้าฝนเพราะน้ำเจิ่งเต็มนา แต่ยังไม่มีต้นข้าวในนานั้น เมื่อเวลาที่มองไปในผืนนาก็จะเห็นเงาสะท้อนของท้องฟ้าเต็มไปทั่ว ยิ่งมองก็ดูเหมือนว่าน้ำนั้นอยู่ลึกลงไป ลึกพอ ๆ กับที่เมฆก้อนนั้นลอยไปในท้องฟ้า บุญตากลัวมากจนต้องคลานไปตามคันนา และเป็นอย่างนั้นอยู่นานมาก จนเมื่อลื่นตกลงไปในน้ำในวันหนึ่ง จึงรู้ว่าน้ำนั้นลึกแค่หัวเข่า จากวันนั้นก็เลิกกลัวเงาเมฆในน้ำ ทั้งยังชอบใจหันไปว่ายน้ำเล่นอยู่เป็นชั่วโมง ๆ จนบางทีแม่ต้องเรียกขึ้นมาจากน้ำให้มากินข้าวในตอนกลางวัน และทุกบ่ายพอดวงอาทิตย์อยู่ห่างยอดไม้สักหนึ่งคืบ (ยกแขนไปตรงหน้าไปที่ยอดไม้ทางทิศตะวันตกห่างไปสัก 4-5 ร้อยเมตร กางนิ้วทั้งห้าให้เหยียดออก คว่ำหัวแม่มือลง ยกขึ้นมาให้อยู่ในระดับสายตา แล้วมองที่ปลายนิ้วก้อยที่อยู่ด้านบน ถ้าดวงอาทิตย์มาลอยอยู่บนปลายนิ้วก้อยนั้นก็เป็นเวลาที่จะต้องกลับเข้าบ้าน) บุญตาก็ต้องพา “บักด่อน” ควายเผือกที่พ่อใช้ไถนาไปอาบน้ำในห้วยริมนา ก่อนที่จะขี่กลับเข้าบ้าน
บุญตาชอบท้องนาในเวลาหน้าหนาวมากกว่าฤดูอื่น ตอนที่บุญตาอายุ 6 ขวบในปีที่จะเข้าโรงเรียน แม่มีน้องให้บุญตาอีก 2 คน เรียงห่างกันคนละ 2 ปี น้องทั้งสองคนนี้เป็นผู้ชายทั้งคู่ คนหนึ่งในวัย 4 ขวบก็กำลังซุกซนมาก ส่วนคนสุดท้องที่เพิ่งอายุได้ 2 ขวบก็กำลังหัดเดินหัดวิ่ง บุญตาจึงมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือเลี้ยงน้อง ที่ก็เหมือนจับปูใส่กระด้ง ยิ่งในหน้าหนาวที่ไปนอนเฝ้านา ก็ยิ่งต้องวุ่นวายอยู่ทั้งคืน เพราะแม่จะเอาน้องทั้งสองคนไปนอนที่ลานข้าวในที่นานั้นด้วย แต่บุญตาก็จะมีความสุขมาก เพราะพ่อจะทำ “ซุ้ม” ด้วยฟางข้าว โดยเอาไม้ไผ่มาพาดสานกันให้เป็นกระโจมขนาดพอสมควร แล้วเอาฟางจำนวนมากมาห่อเป็นฝา เปิดช่องเป็นทางให้เข้าไปนั่งและนอนอยู่ในนั้นได้ช่องหนึ่ง บุญตาและน้องชอบที่จะเข้าไปนอนเล่นอยู่ทั้งวัน ยิ่งตอนกลางคืนอากาศหนาว ๆ ก็จะนอนอยู่ในนั้นอย่างอบอุ่น โดยมีพ่อและแม่นอนอยู่ในอีกกระโจมหนึ่งใกล้ ๆ และทุกคืนก็จะก่อกองไฟไว้กองหนึ่งเสมอ ช่วงหัวค่ำก็จะเอาปลาและหอยที่พ่อหาได้มา “จี่” กินเป็นกับข้าว จิ้มกับ “แจ่วบอง” หรือปลาร้าสับฝีมือของแม่ ร่วมกับผักสดที่ปลูกในแปลงรอบ ๆ ลานข้าว ซึ่งในยามหน้าหนาวนี้ผักอร่อย ๆ หลายชนิด เช่น ผักกาด ถั่วฝักยาว และแตงร้าน จะงอกงามและมีรสดีเป็นพิเศษ แต่ที่เด็ก ๆ ชอบมากก็คือเม็ดบักขาม(มะขาม)กับเม็ดบักแต้(มะค่าแต้) ที่แม่จะเอามาเผาไฟอ่อน ๆ ในกองขี้เถ้าของกองไฟข้างกองฟาง จนกรอบหอมและกระเทะพอเคี้ยวได้ แม้จะมีเนื้อเมล็ดที่แข็งมาก แต่ก็ทำให้เด็ก ๆ เคี้ยวเล่นได้อย่างเพลิดเพลิน พอ ๆ กันกับที่เด็ก ๆ ในเมืองเคี้ยวทอฟฟี่กระนั้น
ปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งในหน้าหนาวที่บุญตาจำได้ติดตาเพราะชอบดูมาก ๆ ก็คือ “ผีพุ่งใต้” ก็เกิดขึ้นที่ลานข้าวหน้ากองฟางนี้เช่นกัน คือในทุกหน้าหนาวที่มานอนเฝ้าข้าว ท้องฟ้ายามกลางคืนจะโปร่งใสมาก ในคืนเดือนหงายที่พระจันทร์เต็มดวงก็จะเห็นพระจันทร์ดวงโตมาก ๆ บางที่ก็ “ทรงกรด...สวยสดงามตา”คือมีวงแหวนสว่าง ๆ ซ้อนเป็นวงขึ้นมารอบ ๆ บางทีก็เหมือนมีสร้อยมุกมาโอบล้อม คือมีรัศมีแผ่ออกมาเป็นแผ่นกว้าง ๆ สว่างจ้าอยู่รอบดวงพระจันทร์นั้น แต่ถ้าเป็นคืนเดือนมืดก็จะเห็น “ทางช้างเผือก” ที่ดวงดาวนับล้านดวงมาเรียงรายเป็นแนวยาวอยู่มุมหนึ่งของท้องฟ้า อย่างกับมีใครทำแป้งโรยตัวโปรยหล่นเป็นทางสว่าง ๆ ไว้บนฟ้ามืด ๆ นั้น แต่ที่บุญตาสนใจและสงสัยเป็นพิเศษก็คือ เส้นดาวที่สว่างวาบอยู่ตามขอบฟ้า บางคืนก็เกือบสิบดวง แต่ทุกคืนนั้นต้องมีอย่างน้อย 3-4 ดวง จนอดมาถามพ่อไม่ได้ พ่อบอกว่านั่นคือ “ผีฟ้า” หรือเทวดาที่อยู่บนสวรรค์ ครั้นพอถึงกำหนดอายุขัยก็จะต้องมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะหล่นจากฟ้าสว่างวาบลงมาเช่นนั้น
เมื่อโตขึ้น บุญตาก็ไม่เชื่อที่พ่อพูด เพราะชีวิตของบุญตาไม่ได้สุขสบายนัก ไม่เหมือนกับที่เขาว่ากันว่าเทวดานั้นคือคนที่ทำบุญมามาก ๆ และจะต้องมีความสุขความสบายมาก ๆ นั้นด้วย