สำหรับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.ในเวลานี้ ได้ เปิดตัวแบรนด์การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (CT Thailand by DASTA) เป็นครั้งแรก หวังเป็นเครื่องมือสร้างแรงบันดาลใจแบบไทยๆ ให้เกิดมูลค่า ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเกิดการยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ  

เปิดตัวแบรนด์อย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี  ผู้อํานวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า อพท. เล็งเห็นความสำคัญของการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ได้บุกเบิกและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ต่อเนื่องกว่า 10 ปี ล่าสุดได้เปิดตัว   แบรนด์ CT Thailand by DASTA ขึ้นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้แก่หน่วยงานภาคีเครือข่าย และเสริมภาพลักษณ์ อพท. ในฐานะสินค้าการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของประเทศไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเกิดการยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ

ซึ่งที่ผ่านมา อพท. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่ขับเคลื่อนเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนในการสร้างแบรนด์การท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่าและออกแบบประสบการณ์การท่องเที่ยวด้วยเครื่องมือการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของ อพท. ที่เรียกว่า 3S ได้แก่ การออกแบบเรื่องราว (Storytelling) การออกแบบกิจกรรมให้เกิดอรรถรส (Senses) และการออกแบบลีลาการนำเสนอ (Sophistication)  และสร้างแบรนด์การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ หรือ CT Thailand by DASTA ขึ้นเพื่อมาเติมเสน่ห์การท่องเที่ยวโดยชุมชนให้เป็นสินค้าการท่องเที่ยวคุณภาพสูง ที่มีการบริหารจัดการที่ดี ควบคู่ไปกับการสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว

นำร่อง5 ชุมชนถ่ายทอดเรื่องราว

โดย นาวาอากาศเอก อธิคุณ กล่าวว่า  ปัจจุบัน อพท. ได้พัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์กว่า 26 กิจกรรมในพื้นที่พิเศษและเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 26 ชุมชน พร้อมกันนี้ยังพัฒนาปราชญ์ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีค่าอย่างยิ่งของแผ่นดิน ให้เป็นเพื่อเป็นตัวแทน (Brand Ambassador) สื่อสารแบรนด์ CT Thailand by DASTA  

สำหรับการถ่ายทอดเรื่องราวของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จากประสบการณ์จริง นำร่องจำนวน 5 ชุมชน ได้แก่1. กิจกรรมออกแบบผ้ามัดหมี่ทอมือ ชุมชนเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี 2.กิจกรรมพระพิมพ์ดินเผาสุโขทัย บ้านพระพิมพ์ลักษมณศิลป์ ชุมชนเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย 3.กิจกรรมปั้นและเขียนลายสังคโลก โมทนาเซรามิก จังหวัดสุโขทัย 4.กิจกรรมโคมมะเต้า ชุมชนม่วงตื๊ด จังหวัดน่าน 5.กิจกรรมเขียนตั๋วเมือง ชุมชนในเวียง จังหวัดน่าน

เป็นพี่เลี้ยงเผยแพร่องค์ความรู้แก่ชุมชน

นอกเหนือจากนี้ อพท.ได้ถอดบทเรียนจากการปฏิบัติจริงและกรณีศึกษาที่หลากหลายสกัดออกมาเป็นเครื่องมือที่เรียกว่า คู่มือกระบวนการพัฒนาและยกระดับกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์  ซึ่งถือเป็นคู่มือพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เล่มแรกของโลก โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ เกร็ก ริชาร์ดส (Greg Richards) ผู้ริเริ่มและให้คำนิยามการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์คนแรกของโลกมาร่วมเป็นผู้เขียนในคู่มือเล่มนี้ด้วย

ขณะที่ อพท. พร้อมเป็นพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษา เผยแพร่องค์ความรู้แก่ชุมชนและภาคีเครือข่าย และยินดีให้หน่วยงานต่างๆเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อยอด เพื่อสร้างต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ร่วมกัน นำไปสู่การยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์สู่ตลาดท่องเที่ยวคุณภาพสูง และขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆต่อไป ผ่านแบรนด์การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ หรือ CT Thailand by DASTA เพื่อให้การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของประเทศไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน  

จากวิกฤติสถานการณ์โควิด พบว่า การท่องเที่ยวในประเทศคึกคักมากขึ้น นักท่องเที่ยวต้องการสัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่น มีส่วนร่วมกับคนในท้องถิ่น และทดลองทำกิจกรรมใหม่ๆ เที่ยวกลุ่มเล็กลง ท่องเที่ยวในสถานที่ที่ไม่แออัด และคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จึงถือเป็นโอกาส และตอบโจทย์แนวโน้มการท่องเที่ยวและพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤติโควิด

ดังนั้นการพัฒนาและเปิดตัวแบรนด์การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ อพท. ใช้ในการเติมเต็มศักยภาพของชุมชนให้เกิดมูลค่าทางการท่องเที่ยว สร้างรายได้และกระจายผลประโยชน์ในชุมชน  ให้ชุมชนภาคภูมิใจและหวงแหนในสิ่งที่มีอยู่  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่า ภูมิปัญญา  ศิลปะ หัตถกรรม  อาหาร  และการแต่งกาย