สำหรับ Wellness Industry  หรืออุตสาหกรรมความงามและการดูแลสุขภาพ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะการให้บริการ คือบริการที่ดูแลสุขภาพจากภายในและภายนอก Global Wellness Institute (GWI) ซึ่งมี รายงานว่า ในปี 2568 เศรษฐกิจเพื่อสุขภาพของทั้งโลกคาดการณ์ไว้ว่าจะมีมูลค่าประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 230 ล้านล้านบาท ขณะที่ปี 2563 เศรษฐกิจเพื่อสุขภาพของทั้งโลก มีมูลค่าสูงถึง 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 145 ล้านล้านบาท    แบ่งเป็นมูลค่าจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4.36 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 14 ล้านล้านบาท ธุรกิจสปา 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.2 ล้านล้านบาท

เป็นเครื่องมือต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ซึ่ง นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า เพื่อสอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมยกระดับและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ Health & Wellness ระดับโลก เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 ที่ได้วางเป้าหมายให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และทิศทางส่งเสริมการตลาดปี 2565-2566 ของ ททท. ที่มุ่งเน้นขยายตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพ ด้วยสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวมูลค่าสูง โดยหนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยในการเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ  โดยมีเป้าหมายการหารือที่สำคัญคือการนำเสนอประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเรื่องสุขภาพขนาดใหญ่ หรือ Global Wellness Summit 2023  (GWS 2023)

โดยงานดังกล่าวเป็นแผนงานหนึ่งในการสนับสนุนให้ประเทศไทยมีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพการจัดงาน Specialised Expo 2028 ที่ภูเก็ต ซึ่งหากประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นประเทศเจ้าภาพการจัดการประชุม GWS 2023 รวมถึงการจัดงาน Specialised Expo 2028 ที่มุ่งเน้นในมิติ Future of Life ตามเป้าหมายที่วางไว้ จะส่งผลเชิงบวกต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเรื่องความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานระดับนานาชาติรวมถึงศักยภาพของประเทศไทยในฐานะ Health & Wellness Hub ระดับโลก เป็นอย่างมาก

ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเติบโตต่อปีสูงถึง 7.5%

อีกทั้งจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานถึงภาพรวมตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทย  ระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพคิดเป็น 15% ของเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวทั้งหมด พร้อมมีอัตราการเติบโตต่อปีสูงถึง 7.5% แสดงถึงศักยภาพการท่องเที่ยวประเภทนี้ในอนาคต และเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดการท่องเที่ยวในประเทศไทย การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จะมีมูลค่าเป็นอันดับที่ 4 รองจากการท่องเที่ยวชมธรรมชาติ, การท่องเที่ยวด้านอาหาร, และการท่องเที่ยวชมวัฒนธรรม

ส่วนข้อมูลจาก  International Healthcare Research Center (IHRC) ยังเผยว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยมีขนาดใหญ่ติดอันดับ 5 จากการประเมินจุดหมายปลายทางเพื่อการแพทย์ยอดนิยมทั่วโลก นอกจากนี้ ศักยภาพของไทยในการรองรับนักท่องเที่ยวและคุณภาพของบริการทางการแพทย์อันเป็นที่ยอมรับทั่วโลกยังส่งให้ไทยติดอันดับที่ 6 ของภูมิภาคเอเชียจากการสำรวจ Medical Tourism Index ในขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ตั้งเป้าหมายในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Medical and Wellness Resort of the World ภายในปี 2567 อีกด้วย

เอกชนเดินหน้าลงทุนธุรกิจสุขภาพ

ดังนั้นจึงทำให้ผู้ประกอบการต่างสนใจในธุรกิจความงาม หรือตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นอย่างมาก เช่น มนทาระ ฮอสพิตาลิตี้ กรุ๊ป กลุ่มธุรกิจบริการด้านโรงแรมและที่พักระดับ Ultra Luxury เปิดโครงการ ตรีวนันดา ในจังหวัดภูเก็ต เป็นโครงการที่พักอาศัย Wellness Community ที่ดีแบบองค์รวม ผสานแนวคิด Integrative Wellness Community แห่งแรกของเอเชีย เดินหน้าขับเคลื่อน Phuket Medical Hub หนุนไทยก้าวสู่ ศูนย์กลางด้านดูแลสุขภาพโลก โดยโครงการสร้างบนพื้นที่ 600 ไร่ ใช้งบลงทุนราว 6,600 ล้านบาทประกอบด้วย 3 โซนหลัก ได้แก่ โซนที่พักอาศัย รีสอร์ทเพื่อสุขภาพ และสวนพฤกษศาสตร์ โดยบริษัทใช้พื้นที่ก่อสร้างโครงการในส่วนของสิ่งปลูกสร้างเพียง 15% ส่วนพื้นที่ทั้งหมดยังคงเหลือพื้นที่ส่วนใหญ่ ไว้เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและสร้างสมดุลของแก่ระบบนิเวศน์อย่างดีที่สุด โดยเฉพาะทะเลสาบทั้ง 9 แห่งที่โอบล้อมรอบที่พักอาศัย มีระบบไฟฟ้าจากแสงแดดและการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบด้วยกลไกทางธรรมชาติ เพื่อให้สามารถนำน้ำมาใช้ในโครงการและเอื้อประโยชน์ให้กับชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง

ด้าน  บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ชูแผนธุรกิจใหม่สร้างอาณาจักร Medical and Wellness ด้วย 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ โรงพยาบาล แฟรนไชส์ แพลตฟอร์มออนไลน์ และผลิตภัณฑ์ เพื่อหาตลาดกลุ่มใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2563 ที่ บริษัทเข้าซื้อแฟรนส์ไชส์โรงพยาบาลจากเยอรมนี เพื่อรุกทำตลาดสุขภาพในประเทศจีนสร้างรายได้และผลกำไรมากกว่า 4 ล้านหยวน ในระยะเวลาเพียง 5 เดือน

จากนั้นจึงต่อยอดเป็นแพลตฟอร์มช่วยแปลภาษาต่างชาติเป็นภาษาจีนและช่วยเรคคอร์ดข้อมูลให้กับลูกค้าที่เข้ารักษาตัวสามารถสื่อสารกับแพทย์ต่างชาติได้ เมื่อธุรกิจโรงพยาบาลในจีนเริ่มอยู่ตัว ก่อนจะขยายธุรกิจด้วยการเข้าซื้อแบรนด์โรงพยาบาลพานาซีในเยอรมนีและประเทศไทย ซึ่งดำเนินการเข้าซื้อเป็นที่เรียบร้อย โดยใช้งบรวมกันกว่า 2,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ณุศาศิริ ยังมุ่งไปทางด้านการรักษาผู้ป่วยด้วยสารแคนนาบินอยด์ โดยจับมือกับ บริษัท CSR จากประเทศจีน ทุ่มงบกว่า 1,000 ล้านบาท ปั้น Medical Technology ลุยธุรกิจกัญชา กัญชง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำทั้งการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทุกหมวด ทั้งสกินแคร์ เครื่องดื่ม และอาหารเสริม ฯลฯ ที่มีสารสกัดจากกัญชาและกัญชงผ่านทุกช่องทาง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีแพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ที่จะเป็นศูนย์กลางในเรื่องสุขภาพ ในนาม ณุศาเทค โดยใช้ AI วิจัยและเก็บข้อมูลด้านสุขภาพของคนไทย  

ล่าสุดเชวาลา เวลเนส หัวหิน โดยทีมแพทย์ด้านวงการสุขภาพและความงาม ได้เปิดตัวของไทยร่วมกันเปิดตัว ด้วยการชู 5 โปรแกรมดูแลสุขภาพแบบองค์รวมกับอินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหิน รีสอร์ท เจาะกลุ่มลูกค้าเฮลตี้ไลฟ์สไตล์ระดับไฮเอนด์ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของไทยฟื้นตัว โดยได้ตั้งเป้าขึ้นท็อป 5 ของโลก

ด้วยศักยภาพของหัวหินเชื่อว่าจะสามารถยกระดับการท่องเที่ยวในเมืองหัวหินสู่ระดับนานาชาติ ส่งผลถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต สอดคล้องกับข้อมูลจากสถาบันโกลบอล เวลเนส หรือ GWI คาดการณ์เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ที่จะกลับมาเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นเฉลี่ยต่อปีที่ 9.9% โดยเศรษฐกิจด้านสุขภาพจะสูงแตะ 7.0 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2568