"อรรถวิชช์" ลุ้น 15 ส.ค.กฎหมายเลือกตั้งส.ส.ผ่านไม่ผ่าน เตือนสมาชิกรัฐสภาเข้าประชุม อย่าทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศตัวเอง ลั่นพรรคกล้างพร้อมสู้ทุกกติกา

วันที่ 11 ส.ค.65 ที่รัฐสภา นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า กล่าวถึงกรณีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ… เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ล่มทำให้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา นัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 15 ส.ค. นี้ ว่า ต้องรอลุ้นว่าวันที่ 15 ส.ค. ผลจะออกมาเป็นอย่างไร และต้องขอบอกว่าหากท่านจะโดดประชุมสภาโดยไม่เซ็นชื่อ ต้องติดตามดูให้ดี เพราะใบลาสามารถลาได้ 2 กรณี คือป่วยและมีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ปัญหาคือเมื่อไม่เข้าเซ็นชื่อเลยจะเขียนใบลากันอย่างไร

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ไม่ว่าสูตรการเลือกตั้งจะเป็นออกมาเป็นหาร 100 หรือ 500 พรรคกล้า พร้อมทั้ง 2 แบบ แต่ก็เสียใจ เพราะหากใช้สูตรหาร 500 จะเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้าสภาได้มากกว่าเดิม ย้ำว่าพรรคกล้า พร้อมทั้ง 2 สูตรการคำนวณ ทั้งนี้ สำหรับการที่สมาชิกรัฐสภาใช้วิธีการทำสภาล่มนั้น มองว่าเขาเข้าประชุมสภาเป็นองค์ประชุม ส่วนจะงดออกเสียงก็งดไป แต่อย่าหลบเลี่ยงที่จะไม่มาประชุม เพราะหลายครั้งมีค่าอาหารเป็นล้าน และมีการโดดประชุมสภาไปหลายครั้งแล้วในสมัยประชุมนี้ อย่าให้เสื่อมเสียเกียรติยศของตัวเอง ขอให้มาประชุมส่วนจะลงมติว่าอย่างไร ตนคิดว่าประชาชนสามารถรับได้ แต่อย่าโดดร่ม
 
เมื่อถามถึงพรรคกล้า จะไปรวมกับพรรคที่เกิดใหม่บ้างหรือไม่ นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า มีหลายพรรคพยายามคุยกับเรา แต่ปัจจุบันยังไม่มีการคิดที่จะไปรวมพรรคอื่นทั้งสิ้น ขอรอดูให้ทุกอย่างนิ่ง ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ (10 ส.ค.) เราได้มีการคุยกันเมื่อเห็นว่าจะมีการพลิกกลับไปใช้สูตรหาร 100 เราได้บอกกับทุกคนว่าต้องปรับตัว และขอย้ำว่าพรรคกล้าพร้อมสู้ทุกรูปแบบ

ทั้งนี้นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า นายสมนึก จันทร์เฉิด ทีมงานพรรคกล้า กทม. พร้อมด้วยตัวแทนชุมชนริมคลองเปรมประชากร เขตจตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอทางเลือกเสริมโครงการบ้านมั่นคงให้ง่ายต่อการปฏิบัติจริง

โดยนายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการบ้านมั่นคงดำเนินการมานานกว่า 10 ปี โดยคลองเปรมประชากร และคลองลาดพร้าวได้ถูกปรับปรุงไปบางส่วนแต่ยังไม่ทั้งหมด ซึ่งหากกติกาที่ใช้อยู่ยังไม่ถูกปรับปรุง อีก 5 ปีก็ยังไม่สำเร็จ โดยตนเองได้ทำงานกับประชาชนหลายกลุ่มที่เห็นข้อบกพร่องของโครงการ จึงได้สรุปมานำเสนอต่อกรรมาธิการเพื่อขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 1. กรณีกลุ่มที่ยินดีเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง ยอมรื้อบ้านเก่า สร้างบ้านใหม่ ยอมเป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ของกลุ่มบ้านมั่นคงราวหลังละ 4 แสนบาท ผ่อน 20 ปี ขอลดดอกเบี้ยจากร้อย 6 เป็นร้อยละ 4 ต่อปี เพราะดอกเบี้ยต้นทุนของรัฐกรณีพันธบัตรระยะยาว ดอกเบี้ยอยู่ประมาณไม่เกินร้อยละ 2 เท่านั้น หากทางกระทรวงการคลัง และกระทรวง พม. บูรณาการร่วมกัน ก็จะสามารถออกพันธบัตรเพื่อที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ช่วยลดต้นทุนดอกเบี้ยของชาวบ้านได้ 2. กรณีกลุ่มยากไร้ ไม่สามารถออมสร้างบ้านใหม่ หรือปรับปรุงบ้านเดิม ขอให้ทางราชการพิจารณาช่วยจ่ายค่ารื้อถอนเพื่อให้หาที่อยู่ใหม่ คนเวลาไม่มี เข้าไม่มีจริงๆ และ 3.กรณีกลุ่มที่บ้านแข็งแรงมั่นคงอยู่แล้ว และบ้านไม่ได้รุกล้ำในคลอง อาศัยในที่หลวงริมคลองเป็นชุมชนมากว่า 50 ปี เขาประสงค์เช่าที่ดิน โดยชุมชนพร้อมจดทะเบียนเป็นกลุ่มสหกรณ์เพื่อขอเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ และใช้เงินออมกับสหกรณ์เป็นเงินส่วนกลางนำไปพัฒนาบ่อบำบัดน้ำเสียและทางเดินชุมชนริมคลอง