ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หรือ ดร.ยุ้ย ประธานที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และงบประมาณ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงที่เต็มไปได้สีสันและโอกาสของใครหลายคนที่ยอมละทิ้งภูมิลำเนามาแสวงหาอาชีพและรายได้ที่สูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็กลับเป็นเมืองที่ทำให้เกิดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำและการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาได้ซ้ำเติมให้ปัญหานี้ดูจะยิ่งถ่างออกไปอีก ส่งผลให้คนจนในเมืองกรุงมีจำนวนเพิ่มขึ้นกลายเป็นปัญหาสะสมที่น่ากังวลสำหรับการพัฒนาเมืองแห่งนี้ในระยะต่อไป

ขณะเดียวกันการแก้ไขปากท้องจากกรุงเทพมหานครที่ผ่านมาแทบมองไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจนนัก แต่ใน ยุคผู้ว่ากทม. “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” มองปัญหานี้เชื่อมโยงกันจึงนำมาสู่นโยบาย 216 ข้อเพื่อสร้างกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่  โดยล่าสุดได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “Kick off การแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำกรุงเทพมหานคร” ซึ่งเวทีดังกล่าวจัดขึ้นโดย กรุงเทพมหานคร หน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยนำร่องศึกษาในพื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระโขนง และเขตคันนายาว ซึ่งสะท้อนคนจนใน กทม. เพราะย่านนี้ที่ดินมีราคาสูง คนจนที่มีรายได้น้อย ไม่สามารถเข้าถึงได้ ไม่มีกรรมสิทธิ์ อยู่อาศัยหลากหลายทั้งแบบเช่า เช่าช่วงต่อ

 

โดยข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีครัวเรือนที่มีรายได้น้อยประมาณ 1,000 กว่าครัวเรือน และว่างงานอีกกว่า 1,000 คน โดยการสำรวจ ประกอบด้วยคณาจารย์ นักวิจัย นักปฏิบัติการจากหลายหน่วยงาน การร่วมมือของภาคีเครือข่าย และพัฒนาหาทางช่วยเหลือคนจน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรอบการทำงาน 1.การสอบทานข้อมูล หรือ สถานะความยากจนของคนจนและครัวเรือนเป้าหมาย 2.การดำเนินฐานทุนหรือศักยภาพในการพัฒนาตนเอง หรือแก้ไขปัญหาความจนของคนจนและครัวเรือนเป้าหมาย โดยมีเป้าหมายที่จะเก็บข้อมูลอย่างน้อย 19,000 ครัวเรือนตามพื้นที่นำร่อง 3.การวิเคราะห์เปรียบเทียบฐานทุน บริบทของพื้นที่กับสถานะความเป็นอยู่ของคนจนและครัวเรือนเป้าหมาย และ 4.การวิจัยโครงการและดำเนินการแก้ไข ส่วนนี้เองที่กรุงเทพมหานครจะมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากในการร่วมปรับปรุงเครื่องมือให้สอดคล้องกับบริบทของเมืองกรุงเทพฯ รวมไปถึงการเชื่อมโยงกลไกกับหน่วยงานภาคีเพื่อแก้ไขความยากจน   

ดร.เกษรา กล่าวว่า สำหรับโครงการฯในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นโครงการวิจัย โครงการ 3 ต่อเนื่องจากโครงการ 1 และ 2  ในระดับจังหวัด มีระยะเวลาในการศึกษารวม 3 ปี ขณะนี้เริ่มเก็บข้อมูลไปแล้ว 3 เดือน โดยมีเครือข่ายอาสาในพื้นที่ช่วยเก็บข้อมูล กรอบการศึกษาเน้น 5 เรื่อง ได้แก่ มิติทุนมนุษย์ ทุนทางกายภาพ ทุนการเงินทุนทรัพยากรธรรมชาติและทุนทางสังคม

 

“โครงการวิจัยนี้มีประโยชน์อย่างมาก เราจึงอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการรับฟัง และนำมาปฏิบัติไม่ว่าจะช่วยให้คนยากจนมีบ้าน ช่วยให้เขาสามารถเข้าถึงแหล่งทุน และช่วยพัฒนาให้มีอาชีพที่ดีขึ้นความเหลื่อมล้ำทุกวันนี้สูงเป็นสีขาว ดำเลย กทม. เรามีเป้าหมายเดียวกัน จึงต้องเรียนรู้จากงานวิจัย เพื่อทำให้กรุงเทพฯ อย่างน้อยมีสีเทากว่านี้หน่อยก็ยังดี”ดร.เกษรา กล่าว

 

ดร.เกษรา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้เขาสะท้อนให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นทำนโยบายเรื่องความยากจนกับผู้ว่ากทม. มาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ เพราะเห็นว่ากรุงเทพมีความเหลื่อมล้ำสูงมากโดย 2 ปีที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ชุมชน และเห็นปัญหานานัปการ โดยในยุคนี้ผู้ว่าฯ “ชัชชาติ” ประกาศเรื่อง 9 ดี ก่อนจะเข้ามาเลือกตั้ง และ 1 ใน 9 ดี คือ เศรษฐกิจดี ส่วนใหญ่เน้นแก้ความเหลื่อมล้ำ และคนจนเมือง

“คนจนเมืองเกิดขึ้นเกือบทุกที่ในระบบทุนนิยม กรุงเทพฯ จึงไม่ต่างจากที่อื่น แต่สิ่งที่อยากบอกคือ กทม. ยุคนี้เราตั้งใจ และมีความจริงจังที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาคนจนเมือง แต่ลำพัง กทม. ทำได้ไม่หมด เพราะ กทม. ไม่ได้เป็นผู้กำหนดนโยบายแต่เราเป็นจ้าของพื้นที่ จึงมีส่วนสำคัญที่น่าจะเป็นส่วนช่วยเหลือแพลตฟอร์ม ของการทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงๆ จังๆ ได้ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย การร่วมมือร่วมใจในครั้งนี้นับว่าเป็นความมุ่งมั่นของคนทำงานทุกฝ่าย ทุ่มเทสุดกำลังเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน และเมื่อใดที่โครงการสำเร็จ เมื่อนั้นกรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนอย่างแท้จริง” ดร.เกษรา กล่าว

++++++++