วันที่ 9 ส.ค.65 ที่ศาลาว่าการกทม.เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับเครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์เลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch) และพันธมิตรคนพิการ เพื่อรับฟังข้อเสนอนโยบายที่เกี่ยวกับคนพิการ โดยมี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักพัฒนาสังคม และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

นายชัชชาติ กล่าวว่า ในวันนี้ เครือข่าย We Watch และพันธมิตรคนพิการได้นำข้อเสนอเชิงนโยบายจำนวน 45 ข้อ ซึ่งได้มาจากการระดมความคิดเห็นของคนพิการรวม 43 คน มาเสนอต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยมีเรื่องหลัก 4 ข้อที่ผ่านการโหวตมาแล้วว่าอยากให้ดำเนินการก่อน ได้แก่ 1. ให้คนพิการและผู้ติดตามสามารถขึ้นรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดินฟรี 2. การสร้างเครือข่ายผู้ปกครองเยาวชนคนพิการ รวมถึงการจ้างงานผู้ปกครองของคนพิการ 3. การจ้างงานคนพิการ 4. ตลาดนัดเพื่อให้คนพิการสามารถร่วมนำสินค้ามาขายได้ 

ในส่วนของการอำนวยความสะดวกกับบริษัทที่มีการจ้างงานคนพิการ เป็นเรื่องที่ต้องเริ่มจากกรุงเทพมหานครก่อน เพราะที่ผ่านมา กทม. มีการจ้างงานคนพิการน้อย ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้มีการจ้างงานคนพิการประมาณ 150 คน ซึ่งจะเพิ่มให้เป็น 300 คน และตั้งเป้าไว้ว่าจะจ้างงานคนพิการอย่างน้อย 600 คน การจ้างงานคนพิการมีข้อดีคือ ทำให้เรารู้ว่าเราขาดอะไรในที่ทำงานบ้าง เพราะประชาชนที่มีความพิการต้องมาติดต่อเขตอยู่แล้ว หากมีคนพิการซึ่งทำงานอยู่ในเขต ก็จะสามารถเตรียมสถานที่ให้พร้อมขึ้นได้ อีกทั้งจะทำให้เจ้าหน้าที่ กทม. เห็นว่า ยังมีคนที่มีความแตกต่างกันอยู่ ทำให้เข้าใจถึงความต้องการที่แตกต่างกันของเพื่อนร่วมงานและประชาชนที่มีความพิการด้วย

ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงแนวทางการรับสมัครคนพิการเข้าทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานครทั้ง 50 สำนักงานเขต จำนวน 300 คน ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการจ้างคนพิการเข้าทำงานกับกทม. เพียง 100 คน ซึ่งตามกฎหมาย กทม.สามารถรับผู้พิการเข้าทำงานได้ 1% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด โดยในการเปิดรับสมัครครั้งนี้ถือเป็นรูปแบบใหม่ ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา แต่ขอให้มีความต้องการทำงานเพื่อสังคม

"จากเดิมการจ้างคนพิการเข้าทำงานอาจเป็นไปเพราะความสงสาร ใช้ชงกาแฟบ้าง หรือทำงานเล็กๆน้อยๆ แต่ปัจจุบัน กทม.คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน เราต้องการรับคนที่พร้อมจะทำเพื่อสังคมจริงๆ ไม่จำกัดวุฒิฯ รูปแบบการจ้างเรียกว่า อาสาสมัคร มีหน้าที่หลักๆ เช่น จัดทำข้อมูล การสำรวจข้อมูลการจ้างคนพิการ รวมถึงดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับผู้พิการ เป็นต้น" นายศานนท์ กล่าว

ปัจจุบันกทม.มีรายชื่อผู้พิการขึ้นทะเบียนอยู่ 100,000 คน กรุงเทพมหานครรับเข้าทำงานแล้ว 150 คน โดยเป็นการจ้างแบบต่อเนื่องตามปีงบประมาณ และเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้จนกว่าจะครบ 300 คน

"ผู้พิการในกทม.มี 100,000 คน แต่เรารับแค่ 300 คน ต้องการให้พวกเขาไปสำรวจสร้างเครือข่าย เก็บความต้องการของผู้พิการที่เหลือว่าเขาต้องการอะไร และอยากให้มีนโยบายช่วยเหลืออะไร เชื่อว่าถ้าเราได้ร่วมงานกับตัวแทนผู้พิการตัวจริงดีกว่ามานั่งรับฟังความต้องการทีละรอบ เป็นโอกาส การช่วยกทม.เป็นการช่วยอีกแสนคน ถ้ามีใจอยากทำเพื่อส่วนรวมอยากให้มาสมัครได้เลยครับ" นายศานนท์ กล่าว

ด้านนางสาวประภาวัลย์ เมฆประสาท อายุ 58 ปี อาสาสมัครคนพิการ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ลงทะเบียนผู้สูงอายุและคนพิการ สำนักงานเขตภาษีเจริญ กล่าว "ผู้พิการส่วนใหญ่มีความละเอียดอ่อนทางความรู้สึก การได้ทำงานกับผู้พิการด้วยกันเองทำให้เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของพวกเขามากขึ้น ทุกคนอยากทำงานหาเลี้ยงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีเหมือนคนทั่วไป ไม่ได้ต้องการความสงสาร เพราะความสงสารไม่ยั่งยืน คนพิการต้องการโอกาสในการทำงานมากกว่า เพื่อสร้างคุณค่าให้ตัวเองและครอบครัว ไม่จำเป็นต้องทำงานกับกทม.ก็ได้ ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่รับสมัครผู้พิการเข้าทำงาน แต่การทำงานกับกทม.จะทำหน้าที่เหมือนเป็นตัวแทนของผู้พิการทั้งหมดในกรุงเทพฯ เพื่อตอบโจทย์ว่าพวกเขาต้องการอะไร และนำมาดำเนินการเป็นนโยบายสำหรับคนพิการต่อไป" นางสาวประภาวัลย์

นางอณุสรา ชื่นทรวง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคมกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จุดประสงค์ของการเปิดรับสมัครผู้พิการเข้าทำงาน คือ คำนึงถึงศักยภาพของผู้พิการเป็นหลัก โดยสำนักพัฒนาสังคมกรุงเทพมหานครมีเกณฑ์เปิดรับผู้พิการที่มีคุณสมบัติ ดังนี้ 1.มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป 2.มีบัตรประจำตัวผู้พิการ 3.ไม่ติดสุราและยาเสพติด 4.ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง โดยอัตราค่าจ้างจะจ่ายตามวุฒิการศึกษา