รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า...วิเคราะห์ย่างก้าวของไทยเรา... ด้วยจำนวนติดเชื้อต่อวันมากมายเช่นที่เห็นในปัจจุบัน แม้ในช่วงถัดจากนี้จะค่อยๆ ลดลงก็ตาม

การจะประกาศลดระดับให้เป็นโรคเฝ้าระวัง ตอนช่วงต้นตุลาคม อาจยิ่งทำให้เกิดผลกระทบทางลบตามมา ทั้งในเรื่องการรับรู้และความตระหนักต่อความเสี่ยงและอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการติดเชื้อ
ผนวกกับสัจธรรมที่เห็นจากปีก่อนๆ และที่ต่างประเทศคาดการณ์ไว้ว่าจะมีการปะทุระลอกใหม่ได้ในซีกโลกตะวันตก โอกาสที่จะเกิดปะทุรุนแรงใน 6-10 สัปดาห์ถัดจากเค้าย่อมมีสูงหากการ์ดทุกประเภทในประเทศถูกลดลงมาพร้อมกันหมด
หากประมาท ประกาศนโยบายไม่ถูกเวลา ไม่ถูกทิศทาง ก็จะเกิดผลลัพธ์ในลักษณะ Negative externalities 

เฉกเช่นเดียวกับที่ได้เห็นจากเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้านี้ทั้งระบบบริการตรวจโรค แนวทางการควบคุมสถานการณ์ระบาด การถอดหน้ากาก วัคซีน และยา

...ไพ่โจ๊กเกอร์ในสำรับโควิด-19

Long COVID คือเรื่องที่สำคัญที่สุด และเป็นตัวกำหนดเกมส์ในอนาคต

เพราะความรู้ปัจจุบันยังไม่ตกตะกอน เรื่องการรักษาและป้องกัน

แต่ที่แน่นอนคือ มีหลักฐานทั่วโลกพิสูจน์ให้เห็นมากมายแล้วว่า Long COVID is real...

ใครที่ยังไม่ประสบกับปัญหา Long COVID กับตนเองหรือครอบครัว จะไม่ทราบถึงความรู้สึก ข้อจำกัด ภาระ และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการดำรงชีวิตประจำวันรวมถึงการทำงาน ที่ได้รับคำจำกัดความแบบบ้านๆ ว่า "ร่างกายไม่เหมือนเดิม" และ "ชีวิตไม่เหมือนเดิม"

ความเสี่ยงที่จะเกิด Long COVID จากการศึกษาวิจัยทั่วโลก ยังอยู่ในพิสัยตั้งแต่ 5-30% โดยการฉีดวัคซีนครบโดส มีส่วนที่จะช่วยลดความเสี่ยงได้บ้างแต่ไม่มากนักภาวะ Long COVID เกิดได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย และเกิดได้ไม่ว่าจะติดเชื้อแบบไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการมากการชงนโยบายที่นำไปสู่ภาวะลดการรับรู้และความตระหนักถึงความเสี่ยงและอันตรายจากการติดเชื้อ ย่อมมีโอกาสทำให้ประมาท ไม่ป้องกันตัว และนำไปสู่การติดเชื้อในที่สุด
และจะตกไปอยู่ในเกมส์ Russian Roulette เพื่อรอลุ้นว่าแจ๊คพอตจะตกอยู่ที่ใครและเมื่อใด

...ทางเลือกในการดำเนินชีวิตของประชาชน

จากการประเมินสถานการณ์ นับจากนี้ไปถือเป็นช่วง transition ที่ไม่ทราบว่าจะนานเพียงใด จนกว่าการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกจะลดลงจนนิ่ง อาจเป็นปีหรือมากกว่านั้น แต่มองโลกในแง่ดี จะพบว่าปัจจุบันทุกคนสามารถใช้ชีวิต ทำมาหากิน ศึกษาเล่าเรียนได้ และเป็นเช่นเดียวกันทั่วโลก

โดยสัจธรรมคือ หากที่ใดใช้ชีวิตโดยไม่ป้องกันตัว ทำตัวแบบอดีต ทั้งๆ ที่โรคระบาดยังมีจำนวนมากนั้น ก็จะเกิดผลลัพธ์ติดเชื้อกันมาก ป่วยกันมาก และตายเพิ่มขึ้น รวมถึง Long COVID มากเป็นเงาตามตัว 

ประชาชนในที่เหล่านั้น หากเข้าถึงบริการตรวจได้ง่าย เข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานสากล การป่วยการตายก็จะน้อยกว่าประเทศที่เข้าถึงได้ยาก ต้องพึ่งพาตนเอง ขวนขวายทำทุกทางเพื่อให้เข้าถึง

แนวทางการใช้ชีวิตในช่วงเวลาถัดจากนี้ไปแบบยาวๆ คือ "การจัดการความเสี่ยงด้วยตัวเราเอง (Manage your own risks)"...

ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวันของตนเอง ของสมาชิกในครอบครัว...ควรตั้งกฎกติกาประจำครอบครัว เพื่อให้สามารถลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อแพร่เชื้อ ในวิสัยที่จะทำได้สถานที่ทำงานต่างๆ ก็เช่นกัน ยิ่งหากเป็นที่ที่มีความเสี่ยงสูงจากการมีคนจำนวนมาก แออัด พบปะ ดูแล เช่น โรงพยาบาล โรงงาน สถานศึกษาทุกระดับ ก็จำเป็นที่จะประกาศนโยบายและออกแนวทางลดความเสี่ยงที่จำเพาะต่อบริบทการทำงานของตนเอง จะแยกย่อยเป็นแผนก ฝ่าย หรือห้อง ก็ตามแต่ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับกระบวนการที่ทำในแต่ละที่ตระหนักไว้ว่า ใครมีความใส่ใจสุขภาพ (Health consciousness) ไม่ประมาท ก็จะมีความเสี่ยงน้อยกว่า นี่คือสัจธรรม

...สุดท้ายที่ฟันธงไว้คือ "การใส่หน้ากาก" อย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ จะเป็นเกราะป้องกันชั้นดี ระหว่างการดำรงชีวิตประจำวันในระยะ transition ครับ