“กิจกรรมสหกรณ์นักเรียนทำให้หนูกับเพื่อนๆ มีความสนิท รัก สามัคคีกันมากขึ้นเพราะได้ทำงานร่วมกัน พวกเรารู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้ร่วมกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน ทุกวันนี้เรายอมลดเวลาว่างที่จะเที่ยวเล่นอย่างเมื่อก่อนลงทุกคนจะรวมตัวกันเพื่อมาดูแลการขายของ การลงบัญชี การประชุม เราเห็นว่าทำแบบนี้มีประโยชน์” นี่คือความรู้สึกของ ด.ญเปมิกา ไชยทองขาว นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านควนตะแบก อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ประธานกรรมการสหกรณ์นักเรียนที่จัดตั้งขี้นมาตาม “โครงการส่งเสริมสหกรณ์ในโรงเรียน” ซึ่งเป็น 1 ใน 8 ของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทรุกันดาร โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นเจ้าภาพดำเนินการ
โครงการส่งเสริมสหกรณ์ ก่อเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2534ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ท่านได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการฯ ความว่า “ก็ตั้งใจจะให้เป็นการฝึกนักเรียนให้มีความรู้มีความเคยชินต่อระบบการทำงานร่วมกันตามแบบสหกรณ์ ฝึกตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ ได้ชินไป ต่อมาก็ถ้าเป็นชาวบ้านเป็นราษฎรเต็มที่แล้วก็จะได้เข้าใจหลักการและเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์ใหญ่ต่อไปได้” ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องการสหกรณ์แก่เด็กและเยาวชน สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพัทลุง จึงเข้าส่งเสริมโครงการฯ ในโรงเรียนผ่านกิจกรรมหลัก ดังนี้
1.การเผยแพร่ความรู้การสหกรณ์แก่เด็กและเยาวชน : โดยการสอนเสริมวิชาสหกรณ์และ/หรือแนะนำการสอนแก่ครู ซึ่งในปีการศึกษาหนึ่งๆ จะเข้าสอนควมรู้การสหกรณ์แก่นักเรียน จำนวน 16 หน่วย การเรียนรู้ด้านการสหกรณ์ที่ครบสมบูรณ์ อาทิ กำเนิดสหกรณ์ บทบาทหน้าที่สมาชิก/กรรมการ/ฝ่ายจัดการ การจัดการธุรกิจสหกรณ์ ฯลฯ
2.การเสริมสร้างทักษะและพฤติกรรมด้านการสหกรณ์ : ร่วมกับโรงเรียน จัดตั้ง “สหกรณ์นักเรียน” ขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการฝึกทักษะ/พฤติกรรม เช่น ทักษะในการทำงานกลุ่ม ทักษะการประชุม ทักษะการบันทึกบัญชี พฤติกรรมความซื่อสัตย์ (จากการซื้อสินค้าในสหกรณ์) พฤติกรรมการประหยัด (จากการฝากเงินในสหกรณ์) การมีวินัยที่ดี (จากการรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย/การเข้าแถวซื้อสินค้าจากสหกรณ์) เป็นต้น
3.การเรียนรู้การเชื่อมโยงบูรณาการ: สหกรณ์นักเรียนจะเชื่อมโยงบูรณาการกับโครงการอื่นๆ ในโรงเรียน เช่น โครงการอาหารกลางวันจะบูรณาการกันตลอดโซ่อุปทานการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ กับกิจกรรมเกษตร กิจกรรมประมง กิจกรรมปศุสัตว์ การบูรณาการกับชั้นเรียน เช่น การจัดทำป้ายนิเทศองค์ความรู้ในชั้นเรียน การสนับสนุนทุนทำกิจกรรมของชั้นเรียน ฯลฯ
4.การขยายผลและเชื่อมโยงกับชุมชน : นักเรียนจะนำองค์ความรู้ไปแลกเปลี่ยนกับชุมชน ทั้งผู้ปกครอง เยาวชน ศิษย์เก่าผ่านกิจกรรมหรือโครงกาใน 5 โครงการหลัก คือ
1) โครงการการแลกเปลี่ยนสินค้า/ผลิตภัณฑ์กับชุมชน จะมีการซื้อ – ขายสินค้าระหว่างกันและกันระหว่างราษฎรในชุมชนกับสหกรณ์นักเรียน
2) โครงการขยายผลตัวแบบสหกรณ์นักเรียน : นักเรียน/ครู จะเข้าพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจการสหกรณ์นักเรียนกับโรงเรียนใกล้เคียงแบบจตุรทิศทั้ง 4 ทิศในพื้นที่
3) โครงการจัดทำบัญชีครัวเรือนและการผลิต : นักเรียนจะนำความรู้การบัญชีไปเชื่อมโยงขยายผล สู่ชุมชนให้ผู้ปกครอง/ราษฎรในชุมชนทำบัญชีครัวเรือน หรือกลุ่มอาชีพในชุมชนทำบัญชีต้นทุนและบัญชีกำไรขาดทุน
4) โครงการศึกษาดูงานเพื่อเรียนรู้การสหกรณ์จากประสบการณ์ตรง : โรงเรียนจะนำนักเรียน ไปศึกษาดูงานสหกรณ์ในพื้นที่ รวมถึงการที่สหกรณ์ในพื้นที่เข้าแนะนำการบริหารจัดการแก่นักเรียนในโรงเรียน
5) โครงการส่งเสริมการออมภาคครัวเรือน : สหกรณ์นักเรียนจะสนับสนุนให้นักเรียนร่วมกับผู้ปกครองมีการออมภาคครัวเรือนผ่านการฝากเงินกับสหกรณ์นักเรียน รวมถึงการฝากเงินในสหกรณ์ใกล้เคียงหรือสถาบันการเงินในพื้นที่
ดังนั้น จะเห็นว่าโรงเรียนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจะมีความโดดเด่นทั้งด้านการเรียน การสอน การเรียนรู้ทักษะอาชีพการเป็นศูนย์กลางความร่วมมือของชุมชนซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลทุกยุคสมัยอยากให้เกิดขึ้นเพราะเมื่อชุมชนเข้มแข็ง ประเทศชาติย่อมเข้มแข็ง นี้คืออีกตัวอย่างหนึ่งที่โครงการเล็กของเด็กและเยาวชนได้ก่อให้เกิดตัวแบบทางสังคม ทำให้ชุมชนเดินหน้าบนเส้นทางสังคมพึ่งตนเอง สังคมสันติสุข