คำสั่งทางปกครอง หมายถึง การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้าง นิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลไม่ว่าจะเป็นทางการ ถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัย การอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่รวมถึงการออกกฎ ซึ่งองค์ประกอบตามกฎหมายของคำสั่งปกครองต้องเป็นการกระทำโดย “เจ้าหน้าที่” (บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล ซึ่งใช้อำนาจทางปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมายไม่ว่า จะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐหรือไม่ก็ตาม) และมีอำนาจหน้าที่ ในเรื่องนั้นๆ ซึ่งในราชการของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่มีอำนาจตามกฎหมายสหกรณ์ในการกำกับ ดูแล คุ้มครองระบบการสหกรณ์มีนายทะเบียนหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและ สามารถออกทางคำสั่งปกครองไปกระทบสิทธิของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้และสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ก็สามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งได้
การอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ และรองนายทะเบียนสหกรณ์ที่ออกคำสั่ง ทางปกครองตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คือ การยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวิธีการในการยื่นอุทธรณ์ไว้ในมาตรา 128/1 ถึงมาตรา 128/5 ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการพิจารณาอุทธรณ์ พ.ศ.2563
ผู้มีสิทธิยื่นอุทธรณ์
ผู้อุทธรณ์ หมายถึง ผู้ยื่นคำขอ ผู้อยู่ในบังคับของคำสั่ง ผู้ซึ่งสิทธิของตนถูกกระทบกระเทือนจากผลของคำสั่ง ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้แก่ สหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ ผู้จัดการ
ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อบุคคลใด
การอุทธรณ์ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามมาตรา 128/1 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งคณะกรรมการฯ ประกอบด้วยรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายเป็นประธานกรรมการ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
วิธีการยื่นอุทธรณ์และการตรวจอุทธรณ์
คำอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือ โดยต้องระบุชื่อ ที่อยู่ คำสั่งอันเป็นเหตุให้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง ข้อกฎหมายและเหตุผล ความประสงค์หรือคำขอ และลงลายมือชื่อผู้อุทธรณ์ พร้อมทั้งแนบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องโดยการยื่นอุทธรณ์คำสั่งมาตรา 20 มาตรา 22 (3) , (4) มาตรา 71 มาตรา 89/3 วรรคสอง มาตรา 119 วรรคสอง ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการฯ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง ในส่วนการอุทธรณ์คำสั่งมาตรา 38 มาตรา 44 ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการฯ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง โดยผู้อุทธรณ์สามารถยื่นคำอุทธรณ์ ณ กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1,2 สำนักงานสหกรณ์จังหวัด โดยให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการลงทะเบียนอุทธรณ์ในระบบและจัดส่งให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ และเมื่อฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ตรวจสอบแล้วเห็นว่าอุทธรณ์สมบูรณ์ให้เสนอคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการฯ แต่ถ้าอุทธรณ์นั้นไม่สมบูรณ์ ต้องแจ้งให้ผู้ยื่นอุทธรณ์
แก้ไขให้ถูกต้องภายในไม่เกิน 15 วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ โดยในการแจ้งต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อและระบุรายการที่ไม่ถูกต้องหรือยังไม่ครบถ้วนให้ผู้ยื่นอุทธรณ์ทราบ และผู้ยื่นอุทธรณ์ต้องดำเนินการแก้ไขหรือส่งเอกสารเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่กำหนด หรือภายในระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ขยายออกไป ทั้งนี้ ไม่เกิน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว โดยหากผู้ยื่นไม่ทำการแก้ไขหรือส่งเอกสารเพิ่มเติม ให้เสนอคณะกรรมการฯ วินิจฉัยต่อไป
การพิจารณาอุทธรณ์
การพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการฯ จะพิจารณาจากข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ความเหมาะสมของการทำคำสั่ง โดยอาจมีการมอบฝ่ายเลขานุการไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม หรือให้ผู้อุทธรณ์มาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงข้อเท็จจริง หรือส่งเอกสารเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณาและอาจมีคำสั่งให้ยกเลิก เพิกถอนคำสั่งเดิม หรือมีคำสั่งยกอุทธรณ์
การแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์
ฝ่ายเลขานุการแจ้งผลคำวินิจฉัยเป็นหนังสือและแจ้งสิทธิและระยะเวลาในการฟ้องคดีให้ผู้อุทธรณ์ทราบ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีมติของคณะกรรมการฯ