อาชีพทำนาเคยยิ่งใหญ่ในอดีตสังคมยกย่องถือเป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน วิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยนอาชีพทำนาไม่เป็นที่นิยมของลูกหลานอีกต่อไปทำให้มีนาร้างเกิดขึ้นจำนวนมากผลกระทบนี้มีอยู่ทั่วประเทศไม่เว้นแม้แต่ อำเภอตะโหมด ที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของจังหวัดพัทลุง ซึ่งเคยเป็นแหล่งทำนาหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนของจังหวัดพัทลุง และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อขับเคลื่อนงานแก้ปัญหาความยากจนในทุกมิติตามนโยบายรัฐบาลโดยในระดับพื้นที่ “นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์” ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นแม่ทัพขับเคลื่อนกลุ่มเกษตรกรทำนาตะโหมดได้สร้างแรงกระตุ้นให้เกษตรกรสมาชิกและราษฎรทั่วไปในพื้นที่สนใจการทำนาสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวแก้ปัญหาความยากจน โดยให้หลักประกันเกษตรกรว่าการทำนาเป็นอาชีพที่เลี้ยงครอบครัวสร้างความมั่นคงได้แน่นอนผ่านการส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ดี “ข้าวสังข์หยดพัทลุง” ซึ่งเป็นข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยมีสมาชิกและราษฎรมากกว่าร้อยละ 90 ในพื้นที่ที่มีนาร้างได้เข้ามาร่วมโครงการฯ ในทุกฤดูการผลิต ทำให้สามารถลดพื้นที่นาร้างลงได้ โดยที่กลุ่มเกษตรกรทำนาตะโหมดได้บริหารจัดการโซ่อุปทานการผลิตการทำนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ดังนี้
1.การบริหารจัดการต้นน้ำ : กลุ่มเกษตรกรทำนาตะโหมดร่วมกับหน่วยงาน/องค์กรในพื้นที่สำรวจ
พื้นที่นาร้างแล้ววิเคราะห์สภาพภูมิสังคมแบ่งแปลงนาออกเป็น ๒ ส่วน คือ แปลงนาข้าวเกษตรอินทรีย์ และแปลงนาข้าวเกษตรปลอดภัย จากนั้นจะใช้เครื่องจักรกลการเกษตรหรือแรงงานในการเตรียมพื้นที่ปลูก การจัดหาพันธุ์ข้าวสังข์หยดที่ดีเหมาะสมกับพื้นที่มาเพาะปลูก ผ่านการบำรุงรักษาที่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ตามมาตรฐานคุณภาพที่กำหนดและนอกจากนี้กลุ่มฯ ยังให้ความสำคัญถึง
(1) การผลักดันให้ผลผลิตข้าวเปลือกมีปริมาณเพียงพอในการขยายไปสู่เชิงพาณิชย์ให้ได้ เพราะถ้ามีปริมาณไม่เพียงพอหรือไม่สม่ำเสมอจะมีปัญหาด้านการผลิตและต้นทุนการผลิต รวมถึงการขยายตลาดในอนาคตอันจะส่งผลเสียในระยะยาวของการจัดการเชิงธุรกิจ
(2) ข้าวเปลือกที่เป็นวัตถุดิบต้องมีคุณภาพตั้งแต่ขั้นต้นไม่เช่นนั้นจะเป็นภาระด้านต้นทุน
(3) จัดการให้กระบวนการผลิตมีความทันสมัยเพื่อเสริมการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการและยืดอายุการเก็บรักษาผ่านการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาผนวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น
2.การบริหารจัดการกลางน้ำ : กลุ่มเกษตรกรทำนาตะโหมด ร่วมกับภาคธุรกิจเอกชนรับประกันราคาซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในราคาไม่ต่ำกว่าเกวียนละ 16,000 บาท โดยรวบรวมคัดเกรดคุณภาพแล้วนำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าภายใต้สินค้าอัตลักษณ์ถิ่นของจังหวัดพัทลุงเป็น “กาแฟเดอลองข้าวสังข์หยด คอฟฟี่มิกข์” กาแฟสำเร็จรูปผสมข้าวสังข์หยดคั่วละเอียดที่หอมเข้มเต็มคุณประโยชน์ ซึ่งในการกระบวนการกลางน้ำของโซ่อุปทาน อาชีพการทำนานี้ กลุ่มฯ และภาคเอกชนเครือข่ายพันธมิตรได้ยึดมั่นในกรอบปฏิบัติสำคัญ คือ
(1) การแสวงหาความรู้ในกระบวนการแปรรูปอย่างเป็นระบบทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การยืดอายุ การเก็บรักษา และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์
(2) การให้ความสำคัญกับมาตรฐานการผลิตที่เป็นสากลทั้งเครื่องหมายรับรองคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัย
3.การบริหารจัดการปลายน้ำ : กลุ่มเกษตรกรทำนาตะโหมด ร่วมกับภาคธุรกิจเอกแสวงหาตลาดโดยการเพิ่มช่องทางจำหน่ายทั้งตลาดปกติทั่วไป และตลาดออนไลน์ การส่งเสริมการขายผ่านตัวแทนจำหน่าย รวมถึงการลด แลก แจก แถมจนผลิตภัณฑ์สามารถแข่งขันได้ในตลาดและมีความยั่งยืน
จากบริบทดังกล่าวที่กลุ่มเกษตรกรทำนาตะโหมดได้หยิบเอานโยบายรัฐบาลในการแก้ปัญหาความยากจนในทุกมิติตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงเป็นแม่ทัพขับเคลื่อนในพื้นที่ มาขยายผลผลักดันทำให้เกิดการบูรณาการแก้ความยากจนได้เชิงประจักษ์ได้ก่อให้เกิดตัวแบบทางสังคมทำให้ชุมชนเดินหน้าบนเส้นทางสังคมพึ่งตนเอง จึงเชิญชวนเกษตรกรที่มีนาร้างมาร่วมทำนาเพื่อสืบสานวิถีชีวิตชาวนาไม่ให้ขาดหายไปและใช้ภูมิปัญญา อัตลักษณ์ถิ่นมาก่อให้เกิดรายได้แก้จนกัน