เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) เป็นเงินกองทุนของภาครัฐที่มีอยู่กว่า 6,400 ล้านบาทโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นผู้บริหารเงินกองทุนเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ทุกประเภท เงินกองทุนดังกล่าวนี้มีอัตราดอกเบี้ยต่ำทั้งแบบปลอดดอกเบี้ย  ดอกเบี้ยร้อยละ 1.00 ต่อปี หรือดอกเบี้ยร้อยละ 3.00-4.00 ต่อปี ตามประเภทการกู้ของสหกรณ์ซึ่งถือว่าอัตราดอกเบี้ยต่ำเพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยในตลาด จะอยู่ที่ร้อยละ 6 ต่อปี ทั้งนี้ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดต่างๆ ซึ่งเป็นหน่วยให้บริการเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ในระดับพื้นที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์จะปล่อยเงินกู้ให้สหกรณ์เพื่อดูแลช่วยเหลือการประกอบอาชีพของสมาชิกสหกรณ์ให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการผลิตทางการเกษตรให้มีต้นทุนที่ต่ำ เช่น การที่สหกรณ์นำเงินทุนไปให้สมาชิกกู้เพื่อเป็นทุนในการผลิตทางการเกษตรในการซื้อปุ๋ย เครื่องมือการเกษตร ฯลฯ และ/หรือสหกรณ์กู้นำไปเป็นทุนในการรวบรวมผลผลิตการเกษตรมาพัฒนาคุณภาพจำหน่ายหรือแปรรูปเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้สมาชิกให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

จังหวัดพัทลุง ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ดังกล่าวที่จะพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ให้เติบโตก้าวหน้า สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงทำให้สมาชิกสหกรณ์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในการประชุมคณะทำงานกลั่นกรองพิจารณาอนุมัติเงินกู้ ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง  นายฉัตรชัย  อุตสาหะ ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงให้ดูแลในเรื่องนี้ได้เน้นย้ำถึงประสิทธิภาพในการจ่ายเงินกู้กับฝ่ายจัดการและคณะกรรมการของสหกรณ์ที่จะต้องดูแลส่งเสริมการให้ความรู้ในการบริหารธุรกิจ  การบริหารสินเชื่อ การจัดการรวบรวมแปรรูปผลผลิตอย่างมืออาชีพเพื่อไม่ให้เกิดภาระหนี้ค้างแก่สหกรณ์ รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของสมาชิกผ่านเงินทุนนี้ “สิ่งที่อยากเห็นคือ เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์สามารถสร้างความก้าวหน้าและการเติบโตให้กับสหกรณ์ อย่างแท้จริง โดยเฉพาะสหกรณ์ขนาดกลาง ขนาดเล็กหรือสหกรณ์ที่เพิ่งตั้งใหม่ ให้เป็นองค์กรที่มีศักยภาพและเข้มแข็งจากการนำเงินกู้ กพส. ไปเป็นทุนหมุนเวียนในการรวบรวมผลผลิตการเกษตรและนำมาแปรรูป เพื่อจำหน่ายสู่ตลาด เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิต และสร้างรายได้กลับสู่สมาชิก ยิ่งจากสถานการณ์

ปัจจุบันซึ่งมีการระบาดของโรคโควิด-19 ยังมีสหกรณ์อีกจำนวนมาก ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมให้สมาชิกประกอบอาชีพและรวบรวมผลผลิตออกจำหน่าย ให้ไปทำตลาดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อสมาชิกมีความตั้งใจในการทำการเกษตรจริง ก็จะทำให้มีรายได้ และเมื่อครบกำหนดการชำระหนี้ สมาชิกก็นำเงินที่กู้ไปสร้างอาชีพ สร้างรายได้ กลับมาคืนสหกรณ์ สหกรณ์ก็ส่งคืนให้กับกองทุนพัฒนาสหกรณ์ โดยอัตราดอกเบี้ยก็คิดตามขนาด ตามชั้นลูกหนี้ กพส.ที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ ซึ่งถ้าเทียบต้นทุนของสหกรณ์ กับการที่เขาจะต้องไปกู้ยืมจากสถาบันการเงินอื่น ถือว่าเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ ช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจให้กับสหกรณ์ได้ ก็จะทำให้สหกรณ์ขนาดเล็กหลายแห่งเติบโตขึ้นสมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ในส่วนนี้ถึงปี 2565 จังหวัดพัทลุงได้อนุมัติวงเงินกู้ให้สหกรณ์ในพื้นทีใช้บริหารจัดการทางธุรกิจไปแล้วไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ทั้งโครงการปกติ เช่น เงินกู้เป็นทุนเพื่อให้สมาชิกกู้ไปประกอบอาชีพ  เงินกู้ไปดำเนินธุรกิจรวบรวมผลผลิตและจัดหาสินค้า/ปัจจัยการผลิตมาบริการสมาชิกลดต้นทุนการประกอบอาชีพสมาชิกเงินกู้เพื่อบริหารจัดการธุรกิจรวบรวมผลไม้ในสถานการณ์โควิด เงินกู้เพื่อพัฒนาการผลิตนมโคที่มีคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต  เงินกู้เพื่อพัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำในไร่นาของสมาชิกสหกรณ์ ฯลฯ และโครงการพิเศษ เช่น เงินกู้สำหรับช่วยเหลือสหกรณ์เป็นการเร่งด่วนสำหรับสหกรณ์ที่ประสบปัญหาอุทกภัย เงินกู้การส่งเสริมอาชีพ ในยุค New Normal และ Next Normal ให้กับสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019  รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้และการฟื้นฟูอาชีพของสมาชิกเป็นต้น

สำหรับการบริหารจัดการเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ไม่ให้เกิดปัญหากับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์ ในอนาคต สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพัทลุงจะมีการติดตามการใช้เงินกู้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์การเร่งรัดการใช้หนี้คืนตามกำหนด ปัจจุบันมีจำนวนการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ กพส. ลดน้อยลง ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่กระบวนการแรกในการพิจารณาคำขอกู้ของสหกรณ์ การวิเคราะห์แผนการนำเงินกู้ไปใช้ประโยชน์ของสหกรณ์ รวมถึงการติดตามให้สมาชิกใช้เงินกู้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่กู้ไปจากสหกรณ์ด้วย