วันที่ 8 ส.ค.65 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า...

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดีเริ่มติดตามโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4.6 ที่พบระบาดในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) สูงกว่า BA.4/BA.5 และ BA.2.75 โดยสายพันธุ์ย่อยนี้ยังไม่พบในประเทศไทย

US CDC ปรับให้โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4.6 เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variant of concern) เนื่องจากมีการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

จากข้อมูลของ CDC พบว่า BA.4.6 คิดเป็น 4.1% ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา (30 กรกฎาคม 2565) พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในรัฐ ไอโอวา แคนซัส มิสซูรี และเนบราสก้า

โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4.6 คล้ายคลึง BA.4 เพียงแต่มีการกลายพันธุ์ที่หนามต่างไปจากโอไมครอนอื่น 1 ตำแหน่ง (Spike R346T mutation) ยังไม่มีข้อมูลด้านการหลบภูมิคุ้มกัน หรือการดื้อต่อวัคซีนเจนเนอเรชั่นแรก และเจนเนเรชั่นสองที่จะมีให้ได้ฉีดกันปลายปีนี้ รวมทั้งยังไม่มีรายงานความรุนแรงของโรคที่แตกต่างไปจากโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยอื่นอย่างมีนัยสำคัญ (ภาพ1)

มีการถอดรหัสพันธุกรรม BA.4.6 ทั้งจีโนม และอัปโหลดขึ้นพบฐานข้อมูล GISAID โลกแล้วทั้งสิ้น 5681 ตัวอย่างภายในสามเดือนที่ผ่านมา (ภาพ2)

โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 จากอินเดียแม้จะมีการกลายพันธุ์บริเวณหนามไปมากที่สุดถึง 8 ตำแหน่งเมื่อเทียบกับโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยอื่น (ภาพ 2) แต่การระบาดในอินเดียและทั่วโลกกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4.6 ในสหรัฐอเมริกามีการเติบโต-แพร่ระบาดเหนือกว่าทั้ง BA.5 และ BA.2.75

โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4.6 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่า BA.5 ทั่วโลกประมาณ 15% (ภาพ3)และ BA.5 ในเอเชียประมาณ 28% (ภาพ4)

โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4.6 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่า BA.2.75 ทั่วโลกประมาณ 12% (ภาพ5) และ BA.2.75 ในเอเชียประมาณ 53% (ภาพ6)