"สธ."เผยจองวัคซีนฝีดาษลิงแล้ว คาดมาถึงไทยปลายส.ค.  "ฮู"แนะฉีดวัคซีนให้ด่านหน้าก่อน  ส่วนโควิดไทยติดเชื้อรายวัน 2,250 ราย เสียชีวิต 35 ราย 

     เมื่อวันที่ 7 ส.ค.65 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) ในประเทศไทยขณะนี้พบผู้ป่วยยืนจำนวน 4 ราย เป็นชาวต่างชาติ 2 ราย และสัญชาติไทย 2 ราย จากการเฝ้าระวังติดตามอาการผู้ป่วยพบอาการป่วยไม่รุนแรง แม้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ โรคนี้สามารถหายได้เองในระยะ 2-4 สัปดาห์  โดยให้ยารักษาตามอาการ และไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายๆ ความเสี่ยงที่จะติดโรคนั้น ส่วนใหญ่มาจากการสัมผัสรอยโรคผิวหนังเช่น ผื่น ตุ่มหนอง สารคัดหลั่ง หรือสัมผัสใกล้ชิดมากๆ กับผู้ป่วย หรือบาดแผลของผู้ป่วย รวมทั้งการติดต่อผ่านทางละอองทางเดินหายใจจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยเช่น หน้าแนบหน้า 
    
 ส่วนการป้องกันควบคุมโรค องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้วัคซีนป้องกันโรคในกลุ่มที่จำเป็นเช่น บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ซึ่งสิ่งที่สำคัญอันดับแรก คือ การป้องกันโรคโดยไม่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย งดเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น และล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันติดเชื้อจะเป็นการดีที่สุด แม้ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ๆ แล้วแต่ยังต้องติดตามข้อมูลผลข้างเคียงและประสิทธิภาพของวัคซีนเมื่อใช้จริงในประชากร ทั้งนี้ ประเทศไทยได้สั่งจองวัคซีนป้องกันฝีดาษไปแล้ว และคาดว่าจะนำเข้ามาประมาณปลายเดือน ส.ค.65
      
    สำหรับกลุ่มเป้าหมายของวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานรที่จะนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยจะต้องพิจารณาหลายด้าน เช่น ประสิทธิภาพในการป้องกันโรค การระมัดระวังผลข้างเคียงต่างๆ การพิจารณาจากสถานการณ์การระบาด ด้านการบริหารจัดการ ซึ่งคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้ประชุมหารือแล้วและกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะรับวัคซีนเบื้องต้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มก่อนการสัมผัสเชื้อ (Pre-exposure) ได้แก่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ เช่น ดูแลผู้ป่วยใกล้ชิด หรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ และ 2.กลุ่ม Post-exposure คือฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงหลังสัมผัสโรคไม่เกิน 14 วันซึ่งหากฉีดเร็วจะมีโอกาสป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
       
   ขอแนะนำประชาชนว่าวัคซีนเป็นเพียงหนึ่งเครื่องมือในการป้องกันโรค ไม่มีวัคซีนใดที่จะสามารถป้องกันโรคได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ วัคซีนมีหน้าที่ช่วยลดอาการรุนแรงของโรค ลดป่วยหนัก ลดเสียชีวิต
    
 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสถานกการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ว่า รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมด้านยาเพื่อรองรับการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างเพียงพอ โดยได้มีการจัดหายารักษาโควิด-19 จำนวน 4 รายการ ได้แก่ 1. ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) 2. ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) 3. ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) และ4. ยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid)  กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนยาให้แก่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศ แบ่งเป็น ยาฟาวิพิราเวียร์ จำนวน 265,500,000 เม็ด ยาโมลนูพิราเวียร์ จำนวน 12,000,000 เม็ด และยาเรมเดซิเวียร์ จำนวน 375,210 ขวด
    
 ขณะที่ ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 3 ส.ค.65 มีรายงานยาคงคลังในพื้นที่ ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์และยาโมลนูพิราเวียร์ รวม 11.2 ล้านเม็ด โดยยังมีสำรองที่ส่วนกลางอีกจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันอัตราการใช้ยาเพียงพอต่อการใช้มากกว่า 14 วัน นอกจากนี้ ส่วนกลางยังมีการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์กว่า 2 ล้านเม็ด และอยู่ระหว่างจัดซื้อเพิ่มเติมคือ ยาฟาวิพิราเวียร์ 10 ล้านเม็ด โมลนูพิราเวียร์ 20 ล้านเม็ด และเรมเดซิเวียร์ 80,000 ขวด
     
ด้าน ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่วันนี้จำนวน 2,250 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,249 ราย มาจากต่างประเทศ 1 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 มีจำนวน 2,382,174 ราย หายป่วยกลับบ้าน 1,939 ราย ทำให้ยอดหายป่วยสะสม ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 มีจำนวน 2,383,993 ราย ผู้ป่วยกำลังรักษา 21,526 ราย และเสียชีวิต 35 ราย รวมเสียชีวิตสะสมตั้งแต่ ปี 2563-ปัจจุบัน จำนวน 31,596 ราย