ทำความเข้าใจ supply chain disruption ปัญหาในปัจจุบันคืออะไร และเราจะแก้ไขได้อย่างไร
เพจธนาคารแห่งประเทศไทย โพสต์ระบุว่า โลกของเราถูกเชื่อมไว้ด้วยกันผ่านการค้าทั้งในรูปแบบการขายสินค้าและการให้บริการ แต่ละประเทศเป็นเหมือนข้อต่อของโซ่เส้นยาวที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรและความถนัดของผู้คน เราต่างใช้ประโยชน์จากความถนัดของกันและกัน แล้วนำมาแลกเปลี่ยนส่งผ่านเป็นทอด ๆ ราวกับการนำข้อต่อโลหะมาคล้องต่อกันเป็นโซ่ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วหากเกิดปัญหากับข้อต่ออันใดอันหนึ่งในสายโซ่นี้ การเชื่อมต่อของโซ่ทั้งสายคงเกิดปัญหา
Supply Chain คืออะไร
ก่อนที่เราจะไปทำความเข้าใจ supply chain disruption เราต้องรู้จักความหมายของ "ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain)" เสียก่อน ห่วงโซ่อุปทาน หมายถึง กระบวนการทั้งหมดในการผลิตสินค้าหรือบริการ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การจัดเก็บ ตลอดจนการจัดส่งจนถึงมือลูกค้าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค
สาเหตุการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน
เมื่อการผลิตในพื้นที่หนึ่งหยุดชะงักจากการขาดแคลนวัตถุดิบอย่างไม่คาดคิด ซึ่งอาจเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือความไม่สงบทางการเมือง ย่อมส่งผลให้เกิด "supply chain disruption" หรือการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานเนื่องจากการขาดแคลนองค์ประกอบของสินค้านั้นๆ นอกจากปัญหาในภาคการผลิตแล้ว อุปสรรคในกระบวนการขนส่งก็เป็นเหตุให้ห่วงโซ่อุปทานทำงานสะดุดได้ ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายของเส้นทาง ต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้น การขาดแคลนอุปกรณ์ที่ช่วยในการขนส่ง ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานต่อสินค้า
บทเรียนที่ผ่านมา
ในปี 2548 พายุเฮอร์ริเคนแคทรีนาพัดเข้าสู่ชายฝั่งสหรัฐอเมริกาจากมหาสมุทรแอตแลนติก โดยกินบริเวณกว้าง 92,000 ตารางกิโลเมตร สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากที่สุดในบรรดาพายุหมุนเขตร้อนที่เคยพัดถล่มสหรัฐอเมริกา ทำลายทรัพย์สิน สิ่งปลูกสร้าง และสาธารณูปโภคต่างๆกว่า 1.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เกิดการสูญเสียที่อยู่อาศัยและอาชีพของประชาชน ท่าเรือขนส่งสินค้าเสียหายและการนำเข้าส่งออกหยุดชะงักเนื่องจากพายุได้ตัดเส้นทางคมนาคมและพลังงานในอ่าวเม็กซิโก การผลิตน้ำมันถูกระงับส่งผลให้ขาดแคลนแก๊ส ราคาพลังงานทั่วประเทศสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้คนหลายล้านคนไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้า ภาคการผลิตเสียหายอย่างหนักจากการขาดแคลนวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ นำไปสู่ปัญหา supply chain disruption รัฐบาลกลางสหรัฐฯออกมาตรการต่างๆเพื่อบรรเทาความเสียหายและฟื้นฟูเศรษฐกิจ อาทิ การให้เงินสนับสนุนการบูรณะสิ่งก่อสร้างที่พังทลาย และความช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาล อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในแง่ของความไม่พร้อมและความล่าช้าในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ
สำหรับประเทศไทย เหตุการณ์หนึ่งที่ส่งผลกระทบถึงห่วงโซ่การผลิตทั่วประเทศคือ "เหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554" สถานการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงและขยายวงกว้างในพื้นที่ภาคกลางซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่เกษตรกรรมหลักของไทย โรงงานหลายแห่งต้องหยุดหรือชะลอการผลิต เกิดปัญหาในการกระจายสินค้าจนนำไปสู่การขาดแคลนชิ้นส่วนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของภาคการเกษตร นอกจากจะได้รับความเสียหายโดยตรงกับพื้นที่เพาะปลูกแล้ว อุปสงค์ต่อสินค้าเกษตรยังน้อยลงเนื่องจากผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรลดลงอย่างมาก การผลิตที่หยุดชะงักในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงความยากลำบากในการขนส่งสินค้าเมื่อเส้นทางการขนส่งถูกตัดขาดจากน้ำท่วม ทำให้การส่งออกหดตัว มีการชะลอการลงทุนในภาคส่วนต่างๆ เมื่อปัญหาน้ำท่วมบรรเทาลง เศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆของไทยจึงเริ่มฟื้นตัว
ปัญหา Supply Chain Disruption ในปัจจุบัน
ปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในครั้งนี้หนักหนากว่าในอดีต เนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงแรก รัฐบาลหลายประเทศกำหนดให้มีการล็อกดาวน์และปิดประเทศเพื่อควบคุมโรค ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตทั้งห่วงโซ่อุปทานอย่างหนัก เกิดเป็น "global supply chain disruption" จากปัจจัยหลายด้านพร้อมกันที่กระทบทุกประเทศทั่วโลก ไม่ใช่เพียงประเทศใดประเทศหนึ่ง
การระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้เกิดความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสูญเสียความสามารถในการออกไปใช้เงินในภาคบริการ ในขณะที่โรงงานต้องปิดตัวหรือชะลอการผลิตลง ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าและชิ้นส่วนที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้าชนิดอื่น หนึ่งในสินค้าที่เป็นที่ต้องการมากแต่กลับขาดแคลนจนเข้าขั้นวิกฤตคือ "เซมิคอนดักเตอร์ (semiconductor)" ส่วนประกอบสำคัญในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ โดยในช่วงปี 2564 โรงงานผลิตหลักหลายแห่งซึ่งมีฐานอยู่ในไต้หวันและจีน ประสบปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ประกอบกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงล็อกดาวน์ ทำให้ไม่สามารถผลิตและจำหน่ายเซมิคอนดักเตอร์ได้ตามปกติ ส่งผลให้การผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องหยุดชะงักหรือไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก
การขนส่งก็ทำได้ลำบากมากขึ้นจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างการปิดท่าเรือ ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมา อาทิ ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนจากปัญหาการตกค้าง ระยะเวลาการขนถ่ายสินค้าเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตโดยรวมและต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น นำไปสู่การปรับเพิ่มราคาสินค้าทั่วโลกเมื่อผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับภาระในส่วนนี้ได้อีกต่อไป
สำหรับประเทศไทยที่พึ่งพาการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและน้ำมันโลกอย่างมากทั้งในการผลิตและการบริโภค เมื่อการขนส่งเกิดปัญหา ราคาน้ำมันเพิ่มสูงจากผลกระทบต่อเนื่องของสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้สินค้าและบริการต่างๆปรับราคาสูงขึ้นจากการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิต
ในปัจจุบัน ปัญหา supply chain disruption ทยอยคลี่คลายลงแล้วจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคและแนวโน้มที่ดีขึ้นของการแพร่ระบาด แม้ผู้ผลิตเรียนรู้ที่จะรับมือกับปัญหาการสะดุดของห่วงโซ่อุปทานด้วยการจัดการด้านขนส่งให้ดีขึ้น และทำให้ห่วงโซ่สั้นลงด้วยการกระจายห่วงโซ่การผลิตไปในหลายประเทศ แต่ก็ยังคงมีปัญหาการขาดแคลนสินค้าเซมิคอนดักเตอร์บางประเภท ทำให้การผลิตรถยนต์ยังไม่กลับเข้าสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาด รวมถึงยังมีความเสี่ยงจากการล็อกดาวน์เป็นระยะๆในประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างจีนตามนโยบาย Zero-COVID เราจึงควรติดตามสถานการณ์ของโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาการสะดุดของห่วงโซ่อุปทานได้อย่างเหมาะสม
ขอขอบคุณข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย