หลังจากเห็นข่าวกรมประมงอนุญาตให้ผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูป สามารถนำเข้ากุ้งทะเลจากเอกวาดอร์และอินเดียได้ ก็มีคำถามตัวใหญ่ๆผุดขึ้นในหัว ว่าเหตุไฉนไทยต้องนำเข้ากุ้งชาติอื่นเข้ามา ในเมื่อประเทศไทยสามารถผลิตกุ้งได้เอง แถมยังได้ชื่อว่าเป็นผู้นำด้านคุณภาพมาตรฐานอันดับหนึ่งของโลก

ทั้งๆ ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมกุ้ง และเร่งผลักดันสินค้ากุ้งกลับมาเป็นสินค้าสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ถึงขนาดยกให้เป็นวาระแห่งชาติ อย่างเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เจ้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เฉลิมชัย ศรีอ่อน ยังเปิดห้องประชุมกระทรวงเกษตรฯ ร่วมหารือกับผู้แทนอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องตลอดสายห่วงโซ่การผลิต ถึงแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อความยั่งยืน 

สร้างความปราบปลื้มให้เกษตรกร ที่ผู้ใหญ่ในบ้านในเมือง รับรู้ปัญหาและเล็งเห็นความสำคัญของสินค้ากุ้ง พร้อมรับปากว่าจะ ช่วยผลักดันอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตกุ้งให้ได้ปีละ 4 แสนตัน ภายใน 2 ปี (2565-2566) หวังทวงคืนโอกาสที่เกิดจากความเสียหายของอุตสาหกรรมกุ้งไทย จากการระบาดของโรคกุ้ง คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 5 แสนล้านบาท ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลับคืนมาให้ได้ 

ขณะที่อธิบดีกรมประมงที่เพิ่งรับตำแหน่งได้ไม่นาน ก็รับลูกเจ้ากระทรวงฯ โดยให้คำมั่นในงาน "วันกุ้งจันท์" ครั้งที่ 26 ด้วยสุนทรพจน์หวาน่จับใจว่า กรมประมงพร้อมจะร่วมสนับสนุนและผลักดันให้เกษตรกรสามารถสร้างผลผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาด และกลับมาผงาดในเวทีโลกได้อีกครั้ง ตามเป้าหมายในการเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลให้มีผลผลิต 4 แสนตัน ภายในปี 2566 ยังย้ำอีกว่าประเทศไทยยังมีข้อได้เปรียบทางประสบการณ์ และความสามารถของพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเล มีเทคโนโลยีเลี้ยงกุ้งที่ทันสมัย ที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้อย่างแน่นอน

แต่จนแล้วจนรอดจากวันนั้นถึงวันนี้ ร่วม 5 เดือน ที่ท่านได้โปรยคำหวานป้ายยาเกษตรกรไว้ แต่กลับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งนโยบาย และแผนงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม เกษตรกรกลับต้องมาทุกข์ซ้ำจากการตัดสินใจลงนามในประกาศกรมฯ อนุญาตให้นำเข้ากุ้งจากทั้งเอกวาดอร์และอินเดีย มาทุบซ้ำวิกฤติกุ้งไทย 

แทนที่จะเอาเวลาไปเร่งค้นคว้าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ลงพื้นที่ดูแลการเลี้ยงและการป้องกันโรคให้ดี พัฒนาผลผลิตให้สูงขึ้นภายใต้ต้นทุนที่เกษตรกรพออยู่ได้ ซึ่งในแต่ละปีกรมฯมีงบประมาณส่วนนี้กันไว้อยู่แล้ว แต่กลับคิดง่ายทำง่ายด้วยการปล่อยให้กุ้งนอกเข้ามา โดยใช้หลักการคลังสินค้าทัณฑ์บน (BONDED WAREHOUSE) ที่สามารถเก็บวัตถุดิบที่นำเข้ามาในประเทศเพื่อผลิตและส่งออกได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องชำระค่าภาษีอากรก่อน ที่ช่วยผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูป สามารถลดต้นทุนและประหยัดภาษีได้มากโข แต่ลืมคิดถึงเกษตรกรหลังสู้ฟ้าหน้าสู้แดด ที่ผลิตกุ้งแบรนด์ไทยทั้งสำหรับผู้บริโภคชาวไทยและป้อนการส่งออกเพื่อนำเงินตราเข้าประเทศ 

การกระทำเช่นนี้ตรงข้ามกับคำมั่นที่ให้ไว้ว่า พร้อมจับมือเกษตรกร พลิกฟื้นกุ้งไทยให้มีคุณภาพปลอดภัย เพื่อก้าวไกลสู่ความยั่งยืน แต่กลับเป็นการฉุดเกษตรกรลงเหว โดยลืมคิดไปว่ากว่าไทยเราจะมีชื่อเสียงเป็นอันดับหนึ่งของโลก ในด้านคุณภาพความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์กุ้งที่ทั่วโลกยอมรับนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ผ่านมาไทยใช้ข้อได้เปรียบในฐานะผู้ส่งออกกุ้งที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศทั้งหมด จึงครองใจผู้บริโภคทั่วโลกได้ 

แล้วกรมประมงยุคนี้คิดอะไรอยู่ ถึงได้ยอมให้ใช้กุ้งนอกมาสวมแบรนด์ไทยเพื่อส่งออกไปแหกตาชาวโลก แม้จะยืนยันว่าได้คุมเข้มการอนุญาต การตรวจโรค และสารตกค้างในสินค้ากุ้งทะเลนำเข้า แต่โอกาสเกิดการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคข้ามพรมแดนใช่ว่าจะไม่มี เพราะการ “สุ่มตรวจ” เชื้อก่อโรค ก็คือการ “สุ่ม” มิใช่การตรวจทั้งหมด หากมีเชื้อก่อโรคสำคัญเล็ดรอดออกไป จนสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมกุ้ง ซ้ำเติมวิกฤติโรคกุ้งที่เป็นอยู่ จะทวงความรับผิดชอบได้จากที่ไหน และใครจะยืนยันได้ว่าสินค้าเหล่านั้นจะถูกนำไปแปรรูปเพื่อการส่งออกเท่านั้น ถ้ากุ้งนอกถูกนำมาดัมพ์ทำกำไรในตลาดบ้านเรา ก็ถึงคราวที่เกษตรกรต้องม้วนเสื่อเลิกเลี้ยง เพราะแค่ปัญหาต้นทุนสูงและโรคกุ้งที่ประสบอยู่ก็หนักหนาพอแล้ว 

เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งอดคิดไม่ได้ว่าการนำเข้ากุ้ง เป็นการอุ้มเกษตรกรสองประเทศนี้ มากว่าที่รัฐจะปกป้องเกษตรกรไทย ทั้งที่ความจริง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมประมง มีหน้าที่ดูแลและปกป้องผู้เลี้ยงกุ้งไทย และต้องเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องโรคกุ้งอย่างจริงจัง พร้อมกับช่วยเหลือเรื่องต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม พัฒนาการเลี้ยงให้มีประสิทธิภาพและช่วยเพิ่มผลผลิต หาตลาดรองรับสินค้า และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่กลับปล่อยกุ้งเอกวาดอร์ซึ่งเป็นเจ้าตลาดกุ้งโลกในขณะนี้ รวมถึงอินเดียที่กำลังเร่งขยายการผลิตเบียดกันมาติดๆ เข้ามาทำลายคนเลี้ยงกุ้งและเศรษฐกิจไทยเสียเอง

ฝากถึงรัฐมนตรีว่าการสองกระทรวงใหญ่จากค่ายประชาธิปัตย์ ที่ชูนโยบายดูแลประชาชนและเกษตรกรไทยมาตลอด ให้รีบลงมาช่วยสอดส่องพฤติกรรมของกรมกองในสังกัด เพราะถ้าช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรได้ ก็จะได้ใจและคะแนนเสียงไปครึ่งค่อนประเทศ โดยเฉพาะภาคใต้แหล่งผลิตสำคัญของอุตสาหกรรมกุ้งที่เป็นฐานเสียงให้ท่านๆได้แน่ในทุกศึกเลือกตั้ง อย่าปล่อยให้นโยบายง่ายๆอย่างการนำเข้ากุ้งมาสร้างความทุกข์ให้เกษตรกรและฉุดรั้งเศรษฐกิจชาติที่รัฐบาลกำลังเร่งขับเคลื่อน

โดย : สานิตย์ ศรีเมือง ที่ปรึกษาอิสระ ด้านการเพาะเลี้ยงกุ้ง