วันที่ 6 ส.ค.65 นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) กล่าวถึง ประเด็นประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่ปรับเปลี่ยนมุมมองบทลงโทษต่อผู้เสพโดยการมองเป็นผู้ป่วย มากกว่าอาชญากร โดยการลงโทษผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามพฤติการณ์ จะเป็นช่องโหว่ให้มีการกระทำผิดทางยาเสพติดเพิ่มขึ้นหรือไม่ 

นายวิชัย  กล่าวว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ ได้ปรับปรุงบทบัญญัติจากเดิมที่มีการใช้บทสันนิษฐานในทางที่เป็นโทษกับผู้กระทำความผิด กล่าวคือ ผู้มียาเสพติดในครอบครองตามปริมาณที่กฎหมายกำหนด จะสันนิษฐานว่าเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือเป็นผู้ค้า โดยไม่ดูจากลักษณะของการกระทำความผิดที่แท้จริง เปลี่ยนเป็นการพิจารณาตาม “พฤติการณ์” และความร้ายแรงที่ผู้กระทำผิดได้กระทำ กล่าวคือ หากเป็นผู้ลักลอบค้าแม้จะมีปริมาณยาเสพติดน้อยในขณะจับกุมแต่ก็ต้องดำเนินคดีในลักษณะที่เป็นความผิดร้ายแรงร่วมกับการดำเนินการริบทรัพย์สิน แต่หากพฤติการณ์เป็นเพียงผู้เสพก็จะยึดหลัก ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย ที่จะช่วยเหลือให้ได้เข้ารับการบำบัดรักษา โดยมีการเพิ่มบทสันนิษฐานการมีไว้ครอบครองเพื่อเสพ ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานในทางที่เป็นคุณ เพื่อให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. และพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจใช้เป็นแนวทางในเบื้องต้นในการพิจารณาช่วยเหลือผู้เสพยาเสพติดที่ครอบครองยาเสพติดในปริมาณเล็กน้อยให้เข้าสู่การบำบัดรักษาโดยไม่ต้องส่งตัวไปดำเนินคดี

ประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ จึงช่วยให้ผู้เสพ หรือผู้ครอบครองเพื่อเสพ ไม่ต้องรับโทษที่รุนแรงอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งก่อนมีประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่นี้ ผู้เสพรายใหม่ที่มียาบ้า 15 เม็ด จะถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้จำหน่ายและมีบทลงโทษที่รุนแรงต่อผู้เสพ ซึ่งอาจสร้างปัญหาอื่นเพิ่มขึ้น คือปัญหานักโทษล้นเรือนจำ และผู้กระทำผิดจำนวนมากที่ไม่ได้รับโอกาสให้กลับตัว เมื่อปล่อยจากเรือนจำ ไม่สามารถกลับคืนสังคมได้อย่างปกติเกิดการกระทำผิดซ้ำ ในทางกลับกัน หากเป็นผู้กระทำผิดที่มี

"พฤติการณ์" เป็นผู้ค้ายาเสพติด หรือ เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด ที่เป็นเบื้องหลังปัญหายาเสพติดที่แท้จริง ประมวลกฎหมายยาเสพติดมีบทลงโทษที่รุนแรงทั้งคดีอาญา และการยึดทรัพย์สินที่มาจากการกระทำผิดที่สามารถยึดทรัพย์ย้อนหลังได้ถึง 10 ปี และสามารถยึดทรัพย์ตามมูลค่า (Value Based Confiscation) จากเดิมที่สามารถยึดทรัพย์ที่ตรวจสอบได้ว่ามาจากการค้ายาเท่านั้น ประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ปรับให้สามารถยึดทรัพย์สินอื่นเพื่อให้ได้ครบจากมมูลค่าที่ประเมินว่ามาจากการค้ายาเสพติด โดยในอดีตการยึดทรัพย์คดียาเสพติดได้ปีละไม่เกิน 600 ล้านบาท แต่ปัจจุบันในปีงบประมาณ 2565 เราสามารถยึดอายัดทรัพย์ได้ กว่า 9,748 ล้านบาท

นายวิชัย  กล่าวอีกว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการปรับปรุงบทลงโทษให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น มุ่งเน้นการทำลายองค์กรการค้ายาซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหายาเสพติด เปิดโอกาสให้ผู้เสพได้รับการบำบัดเพื่อให้มีโอกาสกลับคืนสู่สังคม ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการปรับเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และลดความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน