วันที่ 6 ส.ค.65 เพจเฟซบุ๊ก โบราณนานมา ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

สิ้น “ครูเบ็ญจรงค์ ธนโกเศศ” (ศิลปินแห่งชาติ) บรมครูคีตศิลปินแห่งวงการดนตรีไทย สิริอายุ ๑๐๕ ปี พระอาจารย์ผู้ถวายการสอนซอด้วง ​สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

“ครูเบ็ญจรงค์ ธนโกเศศ” เกิดเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๔๖๑ ที่ตำบลบางขุนพรหม อำเภอบางขุนพรหม จังหวัดพระนคร แรกเริ่มเดิมทีชื่อว่า “เติม” จากนั้นจึงเปลี่ยนมาเป็น “เบ็ญจรงค์” ในสมัยรัฐบาลของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เริ่มเรียนหนังสือพออ่านออกเขียนได้ที่บ้าน แล้วเข้าเรียนต่อในโรงเรียนพร้อมวิทยามูล จบชั้นมัธยมปีที่ ๓ ระหว่างที่เรียนหนังสือก็หัดสีซอด้วง ซออู้ และตีขิม เนื่องจากครูเตียงผู้เป็นบิดาเป็นครูสอนเครื่องสายที่มีชื่อเสียงมาก และคุณแม่ทองอู่ ก็เป็นนักร้องจึงคุ้นเคยกับเสียงดนตรีไทยมาแต่เล็ก และในละแวกบ้านที่อยู่นั้น ก็แวดล้อมไปด้วยศิลปินเพลงไทย อาทิ บ้านหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) บ้านครูละเมียด จิตตเสวี บ้านครูปลั่ง บ้านครูไปล่ วนเขจร ฯลฯ

ครูคนแรกที่จับมือให้เรียนซอด้วง คือ ครูไปล่ วนเขจร ซึ่งครูเบญจรงค์ เรียกว่า “อาไปล่” เพราะสนิทสนมกับบิดามาก เมื่อสีซอด้วงเพลงจระเข้หางยาวได้แล้ว ก็ต่อเพลงไอยเรศ สี่บท บุหลัน ฯลฯ ครั้นเริ่มมีฝีมือดี ได้ต่อซอด้วงทางเดี่ยวจากครู ปลั่ง วนเขจร ซึ่งได้ต่อทางเดี่ยวให้ทุกเพลงถึงเดี่ยวกราวใน และได้ต่อเดี่ยวซอด้วงเพิ่มเติมพร้อมด้วยเดี่ยวซออู้เพลงแขกมอญ จากหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) ในตอนหลัง

นอกจากจะเล่นเครื่องสายได้คล่องและจำเพลงแม่นแล้ว ยังได้ต่อทางร้องกับครูละม่อม อิศรางกูร ณ อยุธยา ครูเชื้อ นักร้อง และเรียนเพิ่มเติมจากครูท้วม ประสิทธิกุลอีกเป็นบางเพลง จึงมีความสามารถทั้งในด้านการบรรเลงและขับร้อง

“ครูเบ็ญจรงค์ ธนโกเศศ” ได้ชื่อว่าเป็นนักสีซอด้วงผู้แม่นเพลง สีซอยืนหยัดเป็นหลักของวงได้อย่างแน่วแน่มั่นคง เสียงซอดี มีรสมือ ได้เสียงชัดเจนแจ่มแจ้ง ในชีวิตเคยร่วมวงเครื่องสายกับนักดนตรีเอก ๆ มามาก เช่น ร่วมวงกับครูเจือ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ครูพุฒ นันทพล ครูประพาส สวนขวัญ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งวงดนตรีไทยของกรมที่ดิน และองค์การเชื้อเพลิง เป็นนักดนตรีประจำวงเสริมมิตรบรรเลง เป็นเจ้าของวงดนตรีคณะบางขุนพรหมใต้ และวงมิตรบรรเลง เคยอัดเสียงเดี่ยวซอด้วง เพลงกราวใน กับห้างแผ่นเสียง ต. เง็กชวน และมีผลงานเพลงเดี่ยวต่าง ๆ หลายเดี่ยว บันทึกเสียงไว้กับ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ได้เคยช่วยครูชิต ผู้สามี ประดิษฐ์ทางขับร้องเพลงที่ครูชิตแต่งไว้หลายเพลงด้วยกัน

ในตอนปลายอายุราชการ ก่อนเกษียณอายุไม่กี่ปี ครูได้แยกทางกับสามี มาปลูกบ้านใหม่อยู่ที่ตำบลบางยี่ขัน พร้อมด้วยลูก ๆ ทั้ง ๕ คน เมื่อเกษียณอายุแล้ว วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร ได้เชิญเป็นอาจารย์พิเศษ สอนเครื่องสาย

“ครูเบ็ญจรงค์ ธนโกเศศ” เคยสอนดนตรีในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัยที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงศึกษาอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ ได้เคยต่อซอด้วงถวาย ครูเบญจรงค์มีศิษย์มากทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยนาฏศิลป์

"กรมสมเด็จพระเทพ" เคยรับสั่งถามอาจารย์เบ็ญจรงค์ ธนโกเศศว่า "อาจารย์อายุเท่าไรละเนี่ย"

อาจารย์ตอบท่านว่า "๙๓ เพคะ" พระองค์ท่านก็เลยรับสั่งว่า "อาจารย์อยู่ให้ถึงร้อยนะ"

อาจารย์ก็เลยตอบท่านว่า "เพคะ" แต่ไม่รู้จะอยู่ถึงรึเปล่า คนอื่นเขากลับบ้านเก่าไปกันหมดละ เหลือแต่เราคนเดียว...

บรรณานุกรม

นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ : เพจเฟซบุ๊ก โบราณนานมา